บทความให้กำลังใจ(ธรรมะข้างเตียง)

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 8 พฤษภาคม 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,518
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,089
    (ต่อ)
    หลวงพ่อไม่ชื่นชมอิทธิปาฏิหาริย์ เพราะท่านประสบด้วยตัวเองว่าแค่ความรู้สึกตัวอย่างเดียวก็ช่วยท่านได้มากกว่าอิทธิปาฏิหาริย์ หรือคาถาอาคม หลวงพ่อเล่าว่าสมัยที่ท่านบวชใหม่ ๆ ราวพรรษาแรกหรือพรรษาสอง มีคราวหนึ่งท่านไปพักในป่าไกลจากเพื่อน ๆ เข้าใจว่าเป็นที่วัดป่าพุทธอุทยาน ตอนนั้นท่านได้รู้ธรรมจากการปฏิบัติกับหลวงพ่อเทียนแล้ว แต่ยังไม่ถึงที่สุด วันหนึ่งมีผู้ร้ายถูกยิงตาย กว่าจะพบศพก็เน่าแล้ว ส่งกลิ่นเหม็น เมื่อเขาฝังศพท่านก็ไปดู เห็นหีบศพเป็นไม้ตะแบกแผ่นใหญ่ ท่านจึงขอเขาเพื่อเอามาทำเป็นเตียง เขาก็แกะให้ท่าน

    ท่านเอาไม้แผ่นนั้นแช่น้ำทั้งเดือน แล้วก็เอาขึ้นมาขัด ฟอก ถู จากนั้นก็เอามาปูนอน แต่ก็ยังมีกลิ่น ยิ่งเวลาฝนตก กลิ่นก็ยิ่งเหม็น พอได้กลิ่นเหม็นทีไร ก็คิดถึงศพที่เน่า คืนหนึ่งหลับไปก็ฝันว่า ศพของผู้ชายคนนั้นกลิ้งมาหาท่าน ท่านจึงบริกรรมคาถาไล่ผี ศพนั้นก็กลิ้งกลับไป แต่พอหยุดบริกรรมมันก็กลิ้งเข้ามาหาอีก ท่านก็บริกรรมคาถาอีกมันกลิ้งออกไปอีก แต่มันก็กลิ้งกลับมาใหม่ทุกครั้ง ท่านสู้กับศพจนเหนื่อย แล้วท่านก็ตื่นขึ้นมา เมื่อตื่นแล้วก็ยังได้กลิ่นเหม็นอยู่อีก ท่านจึงยกมือสร้างจังหวะ พอความรู้สึกตัวกลับมา กลิ่นเหม็นก็หายไป ท่านว่าหลังจากนั้นไม่มีความกลัวผีอีกเลย

    เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า คาถาอาคมนั้นช่วยได้เป็นครั้งเป็นคราว แต่สู้ความรู้สึกตัวไม่ได้ มันเป็นอุทาหรณ์สอนใจว่า อย่าไปฝากความหวังไว้กับคาถาอาคมเลย ความรู้สึกตัวนั้นประเสริฐที่สุดแล้ว

    ความรู้สึกตัวทำให้หลวงพ่อพบธรรมขั้นสูง เพราะเมื่อมีความรู้สึกตัวก็ไม่มีความหลง ช่วยทำให้จิตสามารถเห็นความจริงของกายและใจได้เป็นลำดับ จนกระทั่งปล่อยวางสิ่งทั้งปวง เพราะเห็นว่าสิ่งที่ยึดถือมันเป็นแค่มายาภาพ หลวงพ่อท่านบอกเสมอว่ามันเหมือนกับคนที่เคยดูนักเล่นกล ทีแรกก็หลงเชื่อ เห็นเขาดึงกระต่ายออกมาจากกระเป๋า หรือผ่าตัวออกเป็นสองท่อน คนก็ตื่นเต้น อัศจรรย์ใจ แต่พอรู้เทคนิคของนักเล่นกล มายากลของเขาก็หลอกเราไม่ได้อีกต่อไป เห็นแล้วก็รู้สึกจืดชืดไม่มีความตื่นเต้นเลย

    การที่ท่านเห็นธรรมจนกระทั่งพบว่า สิ่งที่คิดว่าเป็นตัวตนหรือตัวกูนั้น แท้จริงก็เป็นแค่มายาภาพที่จิตปรุงแต่งขึ้นมา มันเหมือนมายากล เป็นแค่ของปลอม พอท่านเข้าใจความจริงขั้นปรมัตถ์ จิตก็วางหมด ไม่มีความตื่นเต้นกับอะไรอีกต่อไป เห็นอะไรก็วางได้ หลวงพ่อเทียนอธิบายว่าคนทั่วไปเวลาเกิดผัสสะ รับรู้อะไรก็ตาม ไม่ว่าทางตาหูจมูกลิ้นกายและใจ ก็เหมือนกับขว้างดินเหนียวไปที่ข้างฝามันก็ติดหนึบ แต่พอปฏิบัติธรรมจนถึงที่สุดแล้ว ขว้างดินไป มันไม่ติดข้างฝาแล้ว หรือที่พระพุทธเจ้าอุปมาอุปไมยว่า เหมือนกับใบบัวที่น้ำฉาบไม่ติด น้ำฝนตกลงมาก็ไม่ติดใบบัว นี้เป็นสภาวะจิตของผู้ที่เห็นธรรมอย่างแจ่มแจ้ง กิเลสก็แปดเปื้อนไม่ได้ เมื่อเกิดผัสสะ ก็ไม่ติดในรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส อันนี้แหละคืออนุสาสนีปาฏิหาริย์ เกิดจากการเข้าถึงธรรมอย่างแจ่มแจ้ง

    หลวงพ่อเมื่อรู้ธรรมก็พยายามสอนผู้คนให้เห็นอย่างท่านบ้าง ท่านได้ติดตามหลวงพ่อเทียนไปตามที่ต่าง ๆ แล้วแต่หลวงพ่อเทียนจะบอกหรือสั่ง จากเมืองเลย ไปวัดโมกข์ขอนแก่น จากวัดโมกข์ก็ไปวัดชลประทานฯ จากนั้นก็ไปวัดสนามใน หลวงพ่อคำเขียนได้อยู่ช่วยหลวงพ่อเทียนที่วัดสนามในปี ๒๕๑๘ ตอนนั้นแถวนั้นยังมีความเป็นชนบทมาก รถโดยสารยังมีสภาพเหมือนรถในหนังเรื่อง “ลูกอีสาน” เลย ที่เรียกว่ารถโคตรทรหด แต่ว่าตอนหลังนักศึกษาเริ่มไปปฏิบัติธรรมที่วัดสนามในมากขึ้น หลวงพ่อเทียนจึงตั้งใจปักหลักพัฒนาวัดสนามในให้เป็นวัดสำหรับการปฏิบัติธรรมของคนเมือง เพราะหลวงพ่อเทียนอยากหยิบยื่นธรรมะให้คนเมืองมากขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนั้นก็มีวัดโมกข์อีกแห่งที่อยู่ใกล้เมืองขอนแก่น

    หลวงพ่อคำเขียนแทนที่จะปักหลักอยู่ที่วัดสนามในหรือวัดโมกข์ตามที่หลวงพ่อเทียนแนะนำ ท่านกลับคิดไม่เหมือนคนอื่น ท่านตัดสินใจมาอยู่บนหลังเขาภูโค้ง ซึ่งตอนนั้นทุรกันดารมาก ไม่มีถนนขึ้นมาจากแก้งคร้อ ต้องปีนเขาขึ้นมาอาตมาจำได้ว่าครั้งแรกที่ขึ้นมาปี ๒๕๒๓ แม้แต่รถจากแก้งคร้อมาถึงตีนเขา ก็มีแค่วันละเที่ยวเท่านั้นเอง

    อะไรทำให้หลวงพ่อเลือกที่จะมาปักหลักอยู่บนหลังเขาอันทุรกันดาร ทั้ง ๆ ที่ท่านมีที่ทางที่จะไป ทั้ง ๆ ที่ครูบาอาจารย์ก็อยากให้ท่านอยู่ที่กรุงเทพฯ ท่านให้เหตุผลว่า การที่คนกรุงเทพฯ เข้าวัดเป็นเรื่องที่ดี แต่ท่านว่าคนดีไม่น่าห่วง ที่น่าห่วงคือคนที่ไม่เข้าวัด คนไกลวัดต่างหาก ท่านเห็นว่าคนบนหลังเขาไกลวัดไกลธรรมะมาก แม้ตอนนั้นท่ามะไฟหวานมีวัดแล้ว แต่พระก็ไม่ค่อยสนใจสอนธรรมะแก่ชาวบ้าน ชอบเล่นว่าวมากกว่า หลวงพ่อคำเขียนเล่าว่าตอนมาที่ท่ามะไฟหวานเมื่อปี ๒๕๒๐ ตามคำนิมนต์ของญาติโยม วัดเตียนโล่งเลยเพราะเจ้าอาวาสคนก่อนตัดต้นไม้หมดจะได้เล่นว่าวสะดวก ท่านต้องปลูกต้นไม้ขึ้นมาจนกระทั่งเป็นป่าอย่างทุกวันนี้ หลวงพ่ออยากมาสงเคราะห์คนชนบทที่ไกลธรรมะ นี่เป็นเหตุผลสำคัญทำให้ท่านมาอยู่บนหลังเขา อย่างไรก็ตามท่านก็ยังลงไปช่วยงานหมู่คณะตามที่หลวงพ่อเทียนขอ

    หลวงพ่อคำเขียนเคารพหลวงพ่อเทียนมาก หลวงพ่อเทียนจะให้ท่านไปช่วยสอนที่ไหนท่านก็ไป ไปถึงหาดใหญ่ท่านก็ไป แต่พอเสร็จธุระแล้วท่านก็กลับมา การมาอยู่บนหลังเขาหลวงพ่อเทียนท่านไม่เห็นด้วยเลย หลวงพ่อเทียนพูดหลายครั้งว่า คนรู้ธรรมะจะมาหลบอยู่ในป่าเหมือนหนูเหมือนลิงเหมือนค่างได้อย่างไร คนรู้ธรรมะต้องอยู่กับคน แต่หลวงพ่อคำเขียนเป็นตัวของท่านเอง แม้ว่าท่านจะเคารพหลวงพ่อเทียนมาก โดยเฉพาะในยามอาพาธ ท่านพูดถึงหลวงพ่อเทียนบ่อยครั้ง พูดถึงด้วยความเคารพ ด้วยความซาบซึ้ง ท่านเรียกตัวเองว่า “ลูกศิษย์หลวงพ่อเทียน” ท่านพูดว่า “ลูกศิษย์หลวงพ่อเทียนมีธรรมนำพา ไม่มีวันตาย” ท่านภูมิใจในความเป็นศิษย์ของหลวงพ่อเทียน แต่ในบางเรื่องท่านเป็นตัวของตัวเอง ท่านจึงเลือกขึ้นมาอยู่บนหลังเขา

    เป็นเวลาหลายปีทีเดียวที่ใครขึ้นมาวัดสุคะโตจะพูดคล้าย ๆ กันว่า ทำไมหลวงพ่อมาอยู่ไกลเหลือเกิน ทำไมไม่อยู่ใกล้ ๆ เพราะมาลำบาก แต่ตอนนี้คนไม่ค่อยบ่นกันแล้วว่าวัดป่าสุคะโตอยู่ไกล แล้วสิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นนั่นคือ ผู้คนพากันขึ้นมาปฏิบัติศึกษาธรรมที่วัดป่าสุคะโตกันมากขึ้น และอย่างต่อเนื่องจนทุกวันนี้

    อาตมาเชื่อว่า ลูกศิษย์หลวงพ่อเทียนหลายคนคงคาดไม่ถึงว่าวัดป่าสุคะโต จะกลายเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมที่มีคนขึ้นมาปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เพราะว่าเมื่อ ๓๐ ปีก่อนนึกภาพไม่ออกเลยว่าจะมีคนเมืองขึ้นมาบนนี้ได้อย่างไรตั้งมากมาย เพราะไม่มีถนน ต้องปีนเขาขึ้นมา แม้เมื่อมีถนนแล้ว จากแก้งคร้อขึ้นมายังวัดป่าระยะทาง ๓๐ กิโลเมตรต้องใช้เวลาถึง ๒ ชั่วโมง แต่หลวงพ่อยืนหยัดที่จะทำวัดป่าสุคะโตให้เป็นวัดสำหรับการปฏิบัติธรรม อาตมาเชื่อว่าเป็นเพราะท่านมีสายตาที่ยาวไกล ว่าสักวันหนึ่งคนเมืองจะหนีร้อนมาพึ่งเย็น แล้วสิ่งที่หลายคนคิดว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นก็เกิดขึ้น ผู้คนหลั่งไหลกันมาจากทุกสารทิศ เดินทางมาวัดป่าสุคะโต เพื่อมาปฏิบัติธรรม เพื่อแสวงหาความสงบเย็นทางใจ

    เพียงแค่ท่านรักษาป่าให้ร่มครึ้มก็มีคุณูปการมากแล้ว เพราะหลายคนที่มาวัดป่าสุคะโตพูดคล้ายกันว่าที่นี่ร่มรื่น สงบมาก นี่เป็นสิ่งที่เขาสัมผัสได้ และเป็นสิ่งที่เขาโหยหา หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าตัวเองต้องการความสงบด้วยซ้ำ รู้แต่ว่ามีบางอย่างขาดหายไปจากชีวิต แต่พอมาวัดป่าสุคะโตเพียงชั่วโมงแรกก็รู้เลยว่า นี่คือความสงบที่เขาต้องการ  ตอนแรกก็สงบกายก่อน แต่ต่อไปก็พบว่าที่เขาขาดจริง ๆ และต้องการอย่างยิ่งก็คือความสงบใจ นี้คือสิ่งที่คนในเมืองขาด แต่อาจไม่รู้ว่าตัวเองขาด รู้แค่ว่ามีบางอย่างที่ขาดหายไปจากชีวิต ทำให้เขาไม่มีความสุข แม้จะมีเงินทอง มีความสะดวกสบาย จนมาถึงที่นี่จึงรู้ว่าความสงบใจคือสิ่งที่เขาปรารถนา

    อันนี้จะเรียกว่าเป็นเพราะหลวงพ่อมีสายตาที่ยาวไกลก็ได้ ถึงแม้ทีแรกท่านจะไม่ได้คิดถึงคนเมืองมากเท่ากับชาวบ้านแถวนี้ เพราะว่าท่านอยากจะช่วยสงเคราะห์คนกลุ่มหลัง แต่เมื่อเวลาผ่านไปท่านก็เห็นว่าชาวเมืองเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่น่าจะได้รับอานิสงส์แห่งธรรมะที่ท่านสอนแสดง

    พวกเราที่ได้มาปฏิบัติธรรมที่วัดป่าสุคะโต ได้พบความสงบและความสว่างจากการปฏิบัติธรรม ตามที่หลวงพ่อได้สอนได้ชี้แนะ นับว่าเป็นผู้ที่โชคดีมาก ที่ได้รับประโยชน์จากการที่หลวงพ่อทุ่มเททั้งแรงกายและสติปัญญา หากหลวงพ่อไม่ได้ทุ่มเทอย่างนี้ พวกเราก็อาจจะยังต้องระหกระเหินแสวงหากันต่อไป หรือยังจมอยู่ในความทุกข์ที่มองไม่เห็นทางออก

    อาตมาอยากจะฝากให้พวกเราได้ใช้ประโยชน์ จากสิ่งที่หลวงพ่อได้ทุ่มเทให้เกิดผลมากขึ้น ถึงแม้ว่าหลวงพ่อจะละจากพวกเราไปแล้ว แต่สิ่งที่ท่านสอนและได้ทำไว้เป็นแบบอย่างยังอยู่ไม่ได้ไปไหน และนั่นคือมรดกธรรมที่พวกเราควรน้อมรับนำมาปฏิบัติให้เกิดผลแก่ตนเอง และเผยแพร่ให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์เช่นเดียวกับเรา
    :- https://visalo.org/article/person15lpKumkien13.html
     
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,518
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,089
    ความประหยัดจากใจ
    พระไพศาล วิสาโล
    นิสัยความประหยัดของท่านอาจารย์พุทธทาสนั้น เป็นที่รับรู้อย่างชัดเจนและเห็นพ้องต้องกันในหมู่ผู้ใกล้ชิด ท่านอาจารย์เองเคยเล่าไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติ เล่าไว้เมื่อวันสนธยาว่า ลักษณะนิสัยดังกล่าวรับถ่ายทอด และฝึกฝนมาจากโยมมารดาของท่านตั้งแต่เด็ก มีผลให้ท่านเป็นผู้ที่เห็นคุณค่าในสิ่งที่ใช้และมีความละเอียดลออรอบคอบอีกด้วย

    ท่านอาจารย์โพธิ์พูดถึงเรื่องความประหยัดของท่านอาจารย์พุทธทาสว่า “อาตมาเห็นว่าท่านประหยัดทุกเรื่อง ท่านพูดชัดเจนว่า ทำอะไรต้องประหยัดให้มากที่สุด ความเป็นอยู่ของท่านอาจารย์ เราจะเห็นว่าท่านประหยัดมาก อาหาร ที่อยู่ ที่หลับที่นอน อะไร ๆ ก็เรียกว่าไม่ต้องใช้ของแพง มีอะไรใช้ได้ก็ให้ใช้ อะไรที่ยังใช้ได้ก็ไม่ค่อยจะรื้อทิ้งพยายามที่จะรักษาและใช้มันก่อน ท่านมีนิสัยอย่างนี้ตลอดเวลาเท่าที่อาตมาสังเกตเห็นจากท่าน”

    ในขณะที่ พระสิงห์ทอง เขมิโยพระอุปัฏฐาก เล่าว่าท่านเองได้รับการฝึกฝนเรื่องดังกล่าวจากท่านอาจารย์โดยตรง จากวิธีการใช้ห่อพัสดุต่าง ๆ คือ “ห่อพัสดุหรือห่ออะไรที่เขาส่งมาถึงท่าน ท่านอาจารย์จะบอกอาตมา ไม่ให้ฉีกไม่ให้ตัด ท่านจะให้แก้ออกโดยเอาส้อมแทงเข้าไปในเชือกที่เขาผูก แล้วก็แก้ออกมา เพื่อจะเอาไปใช้ได้อย่างเดิมอีก คือท่านจะไม่เคยให้ซื้อของใช้ที่เป็นพวกวัสดุห่อของ กระดาษเชือกเลย เพราะจะมีครบหมดเลย เวลาจะห่อของให้ใคร หรือส่งอะไรก็แล้วแต่ จะเอาวัสดุที่เขาใช้ส่งมานั่นแหละ ห่อกลับคืนไปให้เขาอีกทีหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องไปซื้อไปหาที่อื่นอีก ใช้การเก็บเอาจากของเดิมนั้นเอง ท่านหัดเรามาอย่างนั้นให้ทำอย่างนี้ ๆ โดยท่านจะแนะนำจนกว่าเห็นว่าเราจะทำเป็น ท่านจึงวางมือให้เราจัดการต่อ”

    การใช้เครื่องนุ่งห่มของท่านก็ประหยัดมาก ถ้าต้องรับแขกหรือในพิธีการ เช่น รับเสด็จสมเด็จพระสังฆราช รับถวายปริญญาบัตรอะไรต่าง ๆ ท่านก็จะนุ่งห่มของที่ใหม่หน่อย แต่ถ้าเป็นเวลาปกติแล้วท่านอาจารย์จะนุ่งห่มผ้าเก่า บอกว่าสบายตัว ท่านจะใช้จนเก่ามาก ขนาดว่าเปื่อยจนนั่งขาด ทำอะไรไม่ได้แล้วจึงจะทิ้งอย่างนั้นทุก ๆ ผืน อย่างผ้าสรงน้ำของท่านนั้น ใช้เก่าจนขนาดตากไว้ มีคนแถวกุฏิที่ไม่รู้ถือวิสาสะเข้ามาหยิบไปใช้ นึกว่าเป็นผ้าขี้ริ้ว เราต้องไปวิ่งตามเอาคืน บอกว่าเป็นผ้าสรงน้ำของท่านอาจารย์ ผ้าอย่างดีที่มีคนเอามาถวาย ท่านก็ไม่ใช้ แต่จะเอาชนิดปานกลางพื้น ๆ เท่านั้น

    พระเลขานุการ พระพรเทพ ฐิตปัญโญ ซึ่งใกล้ชิดในการทำงานเล่าว่า “ในการทำงานท่านอาจารย์ใช้ข้าวของประหยัดมากอย่างไม่น่าเชื่อเลย อย่างพิมพ์จดหมาย ซึ่งต้องพิมพ์ก๊อปปี้ด้วยเมื่อพิมพ์เสร็จ ท่านอาจารย์อ่านทวนใหม่ แล้วบอกว่าจะเปลี่ยนตรงนี้อีกหน่อย อาตมาบอกท่านว่า เดี๋ยวผมพิมพ์เปลี่ยนให้ใหม่ ท่านไม่เอาบอกว่าเสียดายกระดาษ มันพิมพ์ไปแล้วผิดอย่างนี้ ช่างมันเถอะเราก็พยายามคะยั้นคะยอท่าน บอกท่านอาจารย์ครับ ผมพิมพ์แก้ใหม่ให้ครับ คะยั้นคะยอเท่าไหร่ท่านก็ไม่พิมพ์ใหม่ บอกว่าปล่อยผิดอย่างนี้ไป อย่างมากก็ให้เขาคิดว่าเราโง่ ดีกว่าเสียกระดาษ เสียพลังงาน เสียทรัพยากร ก็ส่งไปอย่างนั้น ถ้าเป็นเราเอาใหม่แล้วใช่ไหม แต่บางงานท่านก็ให้พิมพ์ใหม่เหมือนกัน แล้วแต่กรณีและความเหมาะสม คือถ้าไม่จำเป็นท่านจะยึดหลักประหยัดไว้ก่อน

    อย่างกระดาษหรือสมุดโน๊ตใหม่ ๆ ดี ๆ ท่านไม่ค่อยได้ใช้หรอกเคยถามท่านเหมือนกัน ท่านอาจารย์บอกว่ามันดีเกินไปเสียดายแล้วท่านไปโน๊ตใส่อะไรรู้ไหม ? ท่านใช้กระดาษปฏิทิน ที่ท่านฉีกแล้วห้ามทิ้งนะ ท่านจะสั่งว่า คุณเอามาเก็บตรงนี้ แล้วท่านก็เอาด้านหลังมาโน๊ตอีก แล้วข้อความสำคัญทั้งนั้นเลยนะที่โน๊ตในเศษกระดาษพวกนั้นน่ะ เดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นอยู่ มีเป็นกล่อง ๆ เลย ท่านเป็นคนประหยัดขนาดนี้ ประหยัดมาก

    บนโต๊ะทำงานซึ่งเป็นโต๊ะฉันของท่านด้วยนั้น พอท่านฉันอาหารเสร็จ กระดาษชำระที่ใช้แล้วก็เอามาเช็ดโต๊ะ แล้วจึงทิ้งมีบางครั้งท่านเช็ดแล้วไม่ทิ้ง เราไปเห็นเข้า เราบอกท่านอาจารย์ครับ อันนี้ทิ้งนะครับ ท่านบอกไม่ทิ้ง มันไม่เลอะอะไร เอาเช็ดน้ำเฉย ๆ ให้เอาไว้ตรงนั้น เดี๋ยวมันแห้ง เอามาเช็ดได้ใหม่ ท่านประหยัดและละเอียดขนาดนี้เลย ปกติพวกเรานั้น เช็ดทิ้ง ๆ”

    เรื่องการติดเครื่องปรับอากาศในห้องพักของท่านอาจารย์ได้มีผู้เสนอไว้หลายครั้ง แต่ท่านปฏิเสธตลอดบอกว่าไม่เหมาะสมไม่ควรจนกระทั่งเมื่อท่านมีปัญหาสุขภาพ แพทย์แนะนำว่าต้องติดเครื่องปรับอากาศในห้องของท่าน เพราะถ้าอากาศร้อนจัดและท่านเสียเหงื่อมาก ๆ จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เมื่อกราบเรียนความจำเป็นในเรื่องนี้ ท่านจึงอนุญาต แต่เอาเข้าจริง ๆ ท่านก็ไม่ค่อยเปิดใช้ นายเมตตา พานิช หลายชายของท่านเล่าว่าเคยมาพบเมื่อท่านเรียกหา เห็นท่านอาจารย์เปิดพัดลมแทน เปิดเครื่องปรับอากาศ จึงกราบเรียนถามท่านว่า ทำไมไม่เปิดแอร์ ท่านอาจารย์บอกสั้น ๆ เพียงว่า “มันเปลือง”
    :- https://visalo.org/article/person09Buaddhadasa3.htm


     
  3. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,518
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,089
    เชื่อกรรมอย่างไรไม่ให้ตกต่ำ
    พระไพศาล วิสาโล

    แพทย์ผู้หนึ่งล้มป่วยด้วยโรคมะเร็ง เยียวยารักษาเพียงใดก็ไม่เป็นผล อาการทรุดหนักจนต้องใช้เครื่องช่วยชีวิต มิตรสหายหลายคนจึงหันไปพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และผู้มีพลังจิต ล่ำลือว่าที่ไหนมีคนแก้กรรมใด ก็เข้าไปหาหมด คำตอบที่ได้รับจาก “ผู้รู้” คนหนึ่งก็คือ สาเหตุที่หมอท่านนี้ป่วยหนักก็เพราะไปริเริ่มและผลักดันให้มีโครงการ ๓๐ บาทรักษาทุกโรคทั่วประเทศ ทำให้คนไข้จำนวนมากที่ถึงคราวจะต้องตายเพราะทำกรรมเลวในอดีต กลับมีชีวิตรอด เจ้ากรรมนายเวรจึงไม่พอใจ ผลร้ายจึงมาตกที่หมอท่านนี้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง หมอท่านนี้ต้องชดใช้กรรมที่ไปมีส่วนช่วยให้คนที่สมควรตายกลับไม่ตาย

    แม้จะอ้างอิงกฎแห่งกรรมที่คนไทยคุ้นหูมานาน แต่คำอธิบายดังกล่าวมีนัยยะแตกต่างจากที่เคยได้ยินกันมา ที่น่าวิตกก็คือมีคนเชื่อคำอธิบายแบบนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ เราเคยได้ยินมาว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ใครที่เบียดเบียนหรือทำร้ายผู้อื่น ย่อมได้รับผลร้ายจากกรรมนั้น แต่คำอธิบายข้างต้นกำลังบอกว่า ทำดีอาจได้ชั่ว การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ทุกข์ยากนั้นสามารถก่อผลร้ายต่อตนเองจนถึงตายได้ ถ้าคนไทยเชื่อคำอธิบายแบบนี้กันแพร่หลายเราคงนึกได้ไม่ยากว่าจะเกิดอะไรตามมา คนไทยจะอยู่กันแบบตัวใครตัวมันมากขึ้น มีน้ำใจหรือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่น้อยลง ผู้คนจะพากันนิ่งดูดายเมื่อเห็นคนทุกข์ยากต่อหน้าต่อตา

    คำอธิบายจาก “ผู้รู้”ข้างต้นให้เหตุผลว่า คนป่วยคนเจ็บทั้งหลายสมควรรับเคราะห์(หรือวิบาก)จากกรรมที่ตนก่อขึ้น การไปช่วยเขาให้รอดตาย คือการไปแทรกแซงกฎแห่งกรรม ดังนั้นผู้ช่วยเหลือจึงต้องรับเคราะห์จากเจ้ากรรมนายเวรแทน ถ้าเชื่อคำอธิบายเช่นนี้ ชาวพุทธก็ไม่ควรเป็นหมอหรือพยาบาล เพราะนอกจากจะเป็นการแทรกแซงกฎแห่งกรรมแล้ว ยังทำให้ตนเสี่ยงต่อการถูกทำร้ายจากเจ้ากรรมนายเวร(ของผู้ป่วย) ก็ขนาดไม่ได้ช่วยชีวิตคนป่วยโดยตรง แค่ช่วยโดยอ้อมด้วยการผลักดันโครงการ ๓๐ บาทยังได้รับเคราะห์ถึงตาย หากช่วยชีวิตคนป่วยโดยตรงวันแล้ววันเล่านานเป็นปี ๆ แล้วจะแคล้วคลาดจากมหันตภัยได้อย่างไร

    ที่จริงไม่ใช่แต่อาชีพหมอและพยาบาลเท่านั้น อาชีพอื่น ๆ ที่มีส่วนช่วยเพื่อนมนุษย์จากความทุกข์ยาก เช่น ความยากจน ความพิการ หรือช่วยเด็กที่ถูกทิ้ง ก็ไม่สมควรทำทั้งสิ้นด้วยเหตุผลเดียวกันคือไปแทรกแซงกฎแห่งกรรม หรือขัดขวางไม่ให้วิบากกรรมตกถึงคนเหล่านั้นเต็ม ๆ ในทำนองเดียวกันเมื่อเห็นคนจมน้ำ หรือถูกรถชนเจียนตาย ก็ไม่ควรช่วยเหลือเขา เพราะจะไปทำให้เจ้ากรรมนายเวรขัดเคืองหรือพิโรธ ทางที่ถูกคือควรปล่อยให้เขาตายไป ถือว่าเป็น “กรรมของสัตว์” มองให้ใกล้ตัวเข้ามา หากพ่อแม่ญาติพี่น้องลูกหลานหรือมิตรสหายป่วยหนัก เราก็ไม่สมควรไปช่วยเช่นกัน เพราะ “กรรมใครกรรมมัน”

    ไม่จำเป็นต้องบรรยายว่าเมืองไทยจะมีสภาพอย่างไรหากชาวพุทธเชื่อกฎแห่งกรรมแบบนี้ อันที่จริงกฎแห่งกรรมนั้นน่าจะช่วยให้เราขวนขวายทำความดี หรือใฝ่บุญกลัวบาป เพราะหากทำความชั่วหรือทำบาปแล้วจะส่งผลเสียต่อตนเอง แต่ทุกวันนี้มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนมากเกี่ยวกับกฎแห่งกรรม จึงกลายเป็นว่า นอกจากจะงอมืองอเท้าไม่ทำอะไรเพราะเข้าใจว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับตนไม่ว่าสุขหรือทุกข์ ดีหรือร้าย ล้วนเป็นผลจากกรรมเก่าแต่ชาติก่อนแล้ว ยังไม่คิดที่จะทำความดีหรือช่วยเหลือผู้อื่นที่ตกทุกข์ได้ยากเพราะกลัวว่าจะไปแทรกแซงกฎแห่งกรรมหรือขัดขวางเจ้ากรรมนายเวร แต่เราลืมไปแล้วหรือว่าการปล่อยให้เพื่อนมนุษย์(หรือสัตว์)ประสบทุกข์ต่อหน้าต่อตาทั้ง ๆ ที่เราสามารถจะช่วยได้ แท้ที่จริงก็คือการทำบาปหรือสร้างอกุศลให้แก่ตนเอง ในขณะที่เราสำคัญผิดว่ากำลังปล่อยให้เขาชดใช้กรรมเก่านั้น ตัวเราเองกำลังสร้างกรรมใหม่ที่เป็นบาปไปแล้วโดยไม่รู้ตัว

    จะว่าไปแล้วทุกวันนี้ชาวพุทธจำนวนไม่น้อยกลัวบาปกรรมน้อยกว่ากลัว “เจ้ากรรมนายเวร”เสียอีก เจ้ากรรมนายเวรในความคิดของเขาเป็นเสมือนสิ่งลี้ลับที่มีพลานุภาพ สามารถทำให้เกิดเคราะห์ร้ายได้ หากเทวดาคือสิ่งที่สามารถดลบันดาลให้เราประสบสิ่งที่พึงปรารถนาในชีวิต เจ้ากรรมนายเวรก็คือสิ่งที่มีอำนาจในทางตรงข้าม แต่เดิมนั้นเข้าใจกันว่าเจ้ากรรมนายเวรคือผู้เคยมีกรรมมีเวรต่อกันในชาติก่อน “กรรม”ในที่นี้หมายถึง “บาปกรรม” หรือ “กรรมชั่ว” ในฝ่ายเราที่กระทำต่อเขาในอดีตชาติ ความเคียดแค้นพยาบาทของเจ้ากรรมนายเวรอาจส่งผลร้ายตามมาถึงเราในชาตินี้ได้ เจ้ากรรมนายเวรจะมีจริงหรือไม่ ยากที่เราจะรู้ได้ แต่อย่างน้อยความเชื่อเช่นนี้ทำให้เราไม่กล้าที่จะเบียดเบียนหรือทำร้ายใครด้วยกลัวว่าเขาจะกลายเป็นเจ้ากรรมนายเวรของเราในชาตินี้หรือชาติหน้า เวลาทำบุญก็อดไม่ได้ที่จะอุทิศไปให้เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายหากจะทำ

    แต่เดี๋ยวนี้ผู้คนไม่ได้กลัวเจ้ากรรมนายเวรของตนเท่านั้น หากยังกลัวเจ้ากรรมนายเวรของคนอื่นด้วย จนกระทั่งไม่กล้าไปทำดีกับใคร ด้วยคิดว่าเจ้ากรรมนายเวรของเขาจะโกรธแค้นเอา ภาพของเจ้ากรรมนายเวรทุกวันนี้จึงไม่ต่างจาก “อำนาจมืด”ที่กำลังไล่ล่าเล่นงานใครสักคนด้วยความอาฆาตพยาบาท ดังนั้นเราจึงไม่สมควรไปช่วยเขาเพราะจะโดนอำนาจมืดนั้นเล่นงานไปด้วย ทำนองเดียวกับที่เราไม่ควรยื่นมือไปช่วยเหลือคนที่กำลังถูกนักเลงรุมทำร้ายเพราะเราอาจโดนลูกหลงไปด้วย

    นี้ไม่ใช่กฎแห่งกรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน เพราะการช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากนั้น หากทำด้วยเมตตาจิต ย่อมเป็นกรรมดี แต่จะช่วยได้มากหรือน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยต่าง ๆ มากมาย (ซึ่งอาจรวมถึงกรรมเก่าด้วยแต่ไม่ใช่แค่นั้น ต่อเมื่อทำอะไรไม่ได้จึงค่อยวางใจเป็นอุเบกขา) การกระทำเช่นนั้นไม่ถือว่าเป็นการแทรกแซงกฎแห่งกรรม แต่เป็นการสร้างกรรมใหม่ซึ่งอาจผ่อนร้ายให้กลายเป็นดีหรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับกำลังของกรรมใหม่นั้น รวมถึงกรรมเก่าที่เกี่ยวข้อง พุทธศาสนาเห็นว่าเราควรรู้จักกฎแห่งกรรม มิใช่เพื่อปล่อยตัวปล่อยใจประหนึ่งสวะที่ลอยไปตามกระแสน้ำ (หรือ “แล้วแต่บุญแต่กรรม”) แต่เพื่อใช้กฎนี้ให้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาชีวิตให้เจริญงอกงาม เช่นเดียวกับที่เราต้องรู้จักธรรมชาติของกระแสน้ำและใช้มันให้เป็นประโยชน์ในการล่องเรือให้ถึงจุดหมายปลายทางโดยไม่เกยตื้นหรือชนเกาะแก่งเสียก่อน การคัดท้ายหรือคุมหางเสือเพื่อให้เรือแล่นไปในทิศทางที่ต้องการ มิใช่การแทรกแซงหรือฝืนกระแสน้ำฉันใด การกำกับและประคับประคองชีวิตจิตใจให้ทำแต่กรรมดีและมีน้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์ก็ไม่ถือว่าแทรกแซงกระแสกรรมฉันนั้น
     
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,518
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,089
    (ต่อ)
    กฎแห่งกรรมหากเข้าใจถูกต้องย่อมส่งเสริมให้คนทำดี มีน้ำใจต่อกัน แต่หากเข้าใจคลาดเคลื่อนก็สามารถส่งเสริมความเห็นแก่ตัวได้ คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่การเข้าใจกฎแห่งกรรมในแง่ดังกล่าวเกิดขึ้นในยุคที่ผู้คนอยู่แบบตัวใครตัวมัน ชนิดมือใครยาวสาวได้สาวเอา การมีค่านิยมดังกล่าวยืนพื้นอยู่ก่อนแล้ว (จะเป็นเพราะอิทธิพลของลัทธิทุนนิยมหรือบริโภคนิยมก็แล้วแต่) ทำให้เราตีความกฎแห่งกรรมไปในทางที่สนับสนุนความเห็นแก่ตัว จนพร้อมจะใจจืดใจดำต่อเพื่อนมนุษย์หรือสัตว์โลกที่ทุกข์ยากได้ไม่ยาก

    อีกประเด็นหนึ่งที่น่ากล่าวถึง คือความเข้าใจว่าโรคภัยไข้เจ็บนั้นเป็นผลมาจากอำนาจของเจ้ากรรมนายเวร รากเหง้าของความคิดนี้ก็คือความเชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเรานั้นเป็นเพราะกรรมในอดีตชาติ พุทธศาสนายอมรับกรรมเก่าในอดีตชาติก็จริง แต่ก็ไม่ถึงกับเหมารวมว่าสิ่งต่าง ๆ ที่เรากำลังประสบอยู่ ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ ดีหรือร้าย ล้วนเป็นเพราะกรรมที่ได้ทำไว้ในปางก่อน ตรงกันข้ามพระพุทธองค์ถึงกับตรัสอย่างชัดเจนว่า ๑ ใน ๓ ของลัทธินอกพุทธศาสนาคือความเชื่อว่าทุกอย่างเป็นเพราะกรรมเก่า

    ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเราเป็นไปตามกฎแห่งเหตุและผลก็จริง แต่กฎแห่งเหตุและผลนั้นไม่ได้หมายถึงกฎแห่งกรรมอย่างเดียว ยังมีกฎอื่น ๆ อีกที่ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเรา เช่น พีชนิยาม (กฎเกี่ยวกับพืชพันธุ์หรือชีววิทยา) และอุตุนิยาม (กฎเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมและดินฟ้าอากาศ) เป็นต้น ความเจ็บป่วยจึงไม่ได้เป็นเพราะกรรมเก่าอย่างเดียว แต่ยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้อีกมากมาย ดังพระสารีบุตรเคยจำแนกว่า สมุฏฐานของโรคนั้นมีมากมาย อาทิ ดี เสมหะ ลม ฤดูแปรปรวน การบริหารไม่สม่ำเสมอ ความเพียรเกินกำลัง ผลกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย ฯลฯ

    ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่มีความคิดเกี่ยวกับกรรมเก่าอย่างสุดโต่ง หากไม่อยู่ในฝ่ายแรกคือปฏิเสธกรรมเก่าอย่างสิ้นเชิง ก็อยู่ในฝ่ายที่สองคือ เชื่อแต่กรรมเก่า จนมองข้ามกรรมปัจจุบัน ปักใจเชื่อว่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะกรรมเก่า คนกลุ่มหลังนี้หากไม่งอมืองอเท้าก้มหน้า “รับกรรม” ก็คิดแต่จะ “แก้กรรม” สถานเดียว แต่ไม่ขวนขวายที่จะสร้างกรรมใหม่ที่ดีงามขึ้นมา หรือเปลี่ยนเคราะห์ให้เป็นประโยชน์ เช่น เป็นเครื่องเตือนใจให้ตระหนักถึงความไม่เที่ยงของชีวิต หรือกระตุ้นให้เกิดความไม่ประมาท เร่งทำความดีงามขณะที่ยังมีเวลาและกำลังวังชาอยู่

    ข้อที่พึงตระหนักก็คือ ผลของกรรมหรือกรรมวิบากนั้นเป็นเรื่องที่ซับซ้อน เพราะนอกจากกรรมจะมีหลายชนิด (เช่น มีความแรงในการให้ผลต่างกัน เวลาให้ผลก็ต่างกัน)แล้ว คนแต่ละคนยังทำกรรมมากมายหลายอย่างในเวลาที่ต่างกัน (ทั้งในชาตินี้และชาติก่อน) ดังนั้นจึงยากที่จะบอกได้ว่า เมื่อทำกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว จะต้องได้รับผลอย่างนี้ ๆ ในเวลานั้น ๆ หรือสาเหตุที่เป็นอย่างนี้เพราะทำกรรมอย่างนั้น ๆ เมื่อนั้นเมื่อนี้ ดังพระพุทธองค์เคยตรัสว่า คนที่มักฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ หรือผิดศีล ทั้งยังเป็นมิจฉาทิฏฐิในโลกนี้ เมื่อตายแล้วใช่ว่าจะไปนรกสถานเดียว ที่ไปสวรรค์ก็มี เพราะเหตุ ๓ ประการคือ เคยทำกรรมดีไว้(ในชาติ)ก่อน หรือทำความดีภายหลัง หรือมีสัมมาทิฏฐิในเวลาจะตาย ในทำนองเดียวกันคนที่ไม่ผิดศีล เป็นสัมมาทิฏฐิในโลกนี้ ตายแล้วไปนรกก็มี เพราะ เคยทำบาปกรรมไว้(ในชาติ)ก่อน หรือทำบาปกรรมในภายหลัง หรือมีมิจฉาทิฏฐิในเวลาตาย

    ด้วยเหตุนี้จึงมีแต่เดียรถีย์อย่างนิครนถ์นาฏบุตรเท่านั้นที่ประกาศแบบ “ฟันธง” ว่า “ผู้ฆ่าสัตว์ทั้งหมดต้องไปอบาย ตกนรก ผู้ลักทรัพย์ทั้งหมดต้องไปอบาย ตกนรก ผู้ประพฤติผิดในกามทั้งหมดต้องไปอบาย ตกนรก ผู้พูดเท็จทั้งหมดต้องไปอบาย ตกนรก”


    ดังนั้นผู้ใดก็ตามที่บอกว่าตนสามารถหยั่งรู้ได้ว่าที่ใครเป็นอย่างนี้ ๆ เพราะทำกรรมอย่างนั้น ๆ ในชาติที่แล้ว จึงสมควรที่จะถูกตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนว่ารู้จริงแน่หรือ ยิ่งถ้าบอกว่ารู้วิธี “แก้กรรม”ด้วยแล้ว ก็แสดงว่าเขากำลังสอนลัทธินอกพุทธศาสนา เพราะกรรมในอดีตนั้น ไม่มีใครสามารถแก้ได้ มีแต่บรรเทาผลกรรมด้วยการทำกรรมดีในปัจจุบัน หรือนำผลกรรมนั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในทางธรรม คือเป็นเครื่องเตือนใจให้ทำความดี ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท
    เนื่องจากกระบวนการให้ผลของกรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดซับซ้อนมาก จึงยากที่จะคิดหรือแยกแยะให้เห็นแจ่มแจ้งว่าอันใดเป็นผลของกรรมใด พระพุทธองค์จึงตรัสว่ากรรมวิบากนั้นเป็น “อจินไตย” กล่าวคือเป็นสิ่งไม่พึงคิด เพราะพ้นวิสัยของความคิด ต่อเมื่อบรรลุธรรมขั้นสูง มีกรรมวิปากญาณดังพระพุทธองค์ จึงสามารถล่วงรู้ผลของกรรมได้


    คนเราไม่ได้เกิดมาเพื่อ “ใช้กรรม”เท่านั้น ที่สำคัญกว่านั้นคือ “พัฒนากรรม” ได้แก่การสร้างกรรมใหม่ที่เป็นกุศลอย่างไม่หยุดหย่อน ตราบใดที่ยังไม่หมดลม เราก็ยังสามารถสร้างกรรมใหม่ที่ดีงามได้เสมอ แม้ในยามป่วยไข้ ถึงจะทำประโยชน์ท่านได้ไม่เต็มที่ แต่ก็ยังสามารถทำประโยชน์ตนได้ อย่างน้อยก็ด้วยการน้อมใจเป็นกุศล เจริญเมตตาจิต ใคร่ครวญธรรมจากความเจ็บป่วย หรือปล่อยวางความยึดติดถือมั่นทั้งปวง

    กฎแห่งกรรมนั้น หากเข้าใจถูกต้อง ชีวิตก็มีแต่ความเจริญงอกงาม แต่หากเข้าใจผิดพลาดแล้ว ไม่เพียงจะนำพาชีวิตสู่ความเสื่อมถอยเท่านั้น หากยังฉุดรั้งสังคมให้ตกต่ำลงด้วย

    :- https://visalo.org/article/matichon255207.htm
     
  5. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,518
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,089
    ชำระใจให้หายแค้น
    พระไพศาล วิสาโล
    การแก้แค้นเป็นพฤติกรรมที่ติดมากับมนุษย์ตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ก็ว่าได้ มันเป็นยิ่งกว่าปฏิกิริยา “สู้หรือหนี” อันเป็นสัญชาตญาณดั้งเดิมของสัตว์ทุกชนิดเมื่อเผชิญกับภัยคุกคาม คนเราไม่ได้อยากแก้แค้นเพียงเพราะโกรธที่ถูกทำร้ายเท่านั้น หากยังเพราะมีความอาฆาตพยาบาทซึ่งหล่อเลี้ยงด้วยความทรงจำ สัตว์บางชนิดอาจมีความอาฆาตพยาบาทเช่นเดียวกับมนุษย์ แต่นั่นเพราะมันหรือลูกของมันถูกทำร้าย ส่วนมนุษย์นั้นเพียงแค่เสียหน้าหรือถูกดูหมิ่นศักดิ์ศรีก็เป็นเหตุผลมากพอแล้วที่จะลงมือล้างแค้นจนถึงตาย

    อย่างไรก็ตามการแก้แค้นไม่ใช่เป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกล้วน ๆ มนุษย์ตั้งแต่ยุคบรรพกาลมีเหตุผลที่ต้องแก้แค้น ไม่ใช่เพื่อความสะใจเท่านั้น แต่เพื่อส่งสัญญาณให้คู่กรณีรวมทั้งคนอื่น ๆ ได้รู้ว่าตนจะไม่ยอมถูกกระทำฝ่ายเดียว ใครที่มาล่วงล้ำ กล้ำเกิน หรือทำร้ายตนย่อมถูกโต้ตอบกลับคืน กล่าวอีกนัยหนึ่งนี้เป็นวิธีป้องปรามหรือกลไกป้องกันตัวอีกแบบหนึ่ง ซึ่งจำเป็นในยุคที่ผู้คนอยู่กันด้วย “กฎป่า” หรือใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือ การไม่แก้แค้นหมายถึงการแสดงความอ่อนแอ ซึ่งเท่ากับเชื้อเชิญให้ใครต่อใครมาเอาเปรียบเบียดเบียนไม่หยุดหย่อน

    การป้องกันตนเองด้วยวิธีการดังกล่าวมิใช่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความอยู่รอดของปัจเจกบุคคลและครอบครัวเท่านั้น แต่ยังจำเป็นสำหรับกลุ่มชนหรือเผ่าพันธุ์ด้วย เผ่าจะอยู่รอดไม่ได้หากคนอื่นนิ่งดูดายปล่อยให้เพื่อนพ้องในเผ่าถูกทำร้าย การแก้แค้นให้กับเพื่อนร่วมเผ่าเป็นทั้งการป้องปรามไม่ให้ใครมาทำเช่นนั้นอีก ขณะเดียวกันก็เป็นการส่งสัญญาณแสดงถึงความสามัคคีกลมเกลียวของเผ่าตน ด้วยวิธีนี้เผ่าจึงจะมีโอกาสอยู่รอดและปลอดพ้นจากภัยคุกคามได้

    คงเพราะเหตุนี้จึงมีการส่งเสริมค่านิยมการล้างแค้นในหมู่เผ่าพันธุ์และกลุ่มชนต่าง ๆ จนกลายเป็นวัฒนธรรมไปทั่วโลก และในบางแห่งก็ถึงกับกลายเป็นข้อบัญญัติหรือเป็นที่รับรองของศาสนาด้วยซ้ำ มองในแง่นี้ก็เหมือนกับจะยืนยันว่าการล้างแค้นเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ที่ติดมาในยีนเลยก็ว่าได้ แต่มองอีกมุมหนึ่งการที่หลายชุมชนหลายเผ่าพันธุ์พยายามตอกย้ำเหตุการณ์อันน่าขมขื่นเจ็บปวดในอดีต (ผ่านบทเพลง บันทึกประวัติศาสตร์ และเรื่องเล่าปากต่อปาก ฯลฯ)เพื่อกระตุ้นให้เกิดความอาฆาตพยาบาทและอยากแก้แค้นนั้น ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า ถ้าการแก้แค้นเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์จริง ทำไมจึงต้องตอกย้ำและปลุกเร้าให้เกิดความโกรธเกลียดและอาฆาตพยาบาทไม่หยุดหย่อน ราวกับกลัวว่าผู้คนจะลืมเหตุการณ์เหล่านั้นหรือไม่อาฆาตพยาบาทมากพอ

    มีผู้คนเป็นอันมากที่พยายามหล่อเลี้ยงความอาฆาตพยาบาทด้วยการเตือนตนให้ระลึกถึงความเจ็บแค้นในอดีต เช่น นึกถึงมันบ่อย ๆ หรือบันทึกเอาไว้ บ้างก็ถึงกับทำรายชื่อศัตรูเหมือนกับจดรายการจ่ายตลาด ทั้งนี้ก็เพราะเขากลัวลืม แต่ยิ่งนึกย้ำซ้ำทวนก็ยิ่งถูกไฟโทสะเผาลนจิตใจ การพยายามปกป้องตนเองด้วยการแก้แค้นกลับกลายเป็นการบั่นทอนทำร้ายตนเองตั้งแต่เริ่มคิดแก้แค้นด้วยซ้ำ
    แต่การแก้แค้นก่อผลเสียยิ่งกว่านั้น มันสามารถชักนำครอบครัวและกลุ่มชนของตนให้ตกอยู่ในวังวนแห่งความรุนแรง ติดกับดักแห่งการแก้แค้นไม่รู้จบ เพราะอีกฝ่ายย่อมไม่อยู่นิ่งเฉยหากพยายามแก้แค้นเอาคืน การแก้แค้นให้กับคน ๆ หนึ่งที่ถูกฆ่าตายอาจตามมาด้วยการสังหารผู้คนอีกเกือบ ๓๐ คน (ดังที่เกิดกับ ๒ ชนเผ่าในนิวกีนีเมื่อหลายปีก่อน) หรือมีการจองล้างจองผลาญติดต่อกันนานถึง ๒๗๐ ปี (ดังกรณีที่เกิดในอัลเบเนีย) แต่นั่นก็ยังเทียบไม่ได้กับการแก้แค้นระหว่างเซิร์บกับเติร์กซึ่งยืดเยื้อมา ๖๐๐ ปี หรือระหว่างยิวกับอาหรับซึ่งสาวไปได้ถึงพันปีที่แล้ว
    ทุกวัฒนธรรมที่ส่งเสริมการแก้แค้นย่อมรู้ดีว่าการแก้แค้นที่ปล่อยให้เกิดขึ้นตามอำเภอใจย่อมนำมาซึ่งความโกลาหลวุ่นวาย ทำลายความสามัคคีและบั่นทอนเสถียรภาพของสังคม จึงพยายามสร้างกติกาหรือข้อกำหนดขึ้นมาเพื่อให้การแก้แค้นอยู่ในขอบเขต (เช่น อนุญาตให้แก้แค้นได้ภายใน ๒๔ ชั่วโมง หรือกันเด็ก ผู้หญิง ชายชราจากหน้าที่แก้แค้น หรืออนุญาตให้ดวลปืนยิงกันด้วยกระสุนนัดเดียว) แต่นั่นก็ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด หลายชุมชนจึงหันมาส่งเสริมการปรับหรือเรียกค่าสินไหมแทนการแก้แค้น หรือไม่ก็มอบหมายให้รัฐหรือผู้ปกครองทำการแก้แค้นแทน โดยมีมาตรการต่าง ๆ ตั้งแต่ปรับ จำคุก ไปจนถึงประหารชีวิต (ในอดีตอนุญาตให้รัฐใช้วิธีทรมานได้ด้วย)

    แต่ความรุนแรงควรยุติด้วยการแก้แค้นเท่านั้นหรือ? หากเราไม่ลงมือแก้แค้นเอง เราควรพอใจที่รัฐแก้แค้นแทนเราเท่านั้นหรือ? มีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้หรือไม่ที่เราสามารถทำได้ ? คำตอบคือมี ได้แก่ “การล้างแค้นอย่างสร้างสรรค์” คือ การล้างแค้นด้วยการยกระดับตัวเองแทนที่จะไปเหยียบย่ำคนอื่นให้ตกต่ำลง เมื่อเราโกรธหรือเกลียดใครสักคน เราอยากทำกับเขาเหมือนกับที่เขาทำกับเรา หากเขาด่าว่าเรา เราก็ต้องด่าเขากลับคืน หากเขาทำร้ายเรา เราก็ต้องเล่นงานเขาให้สาสม วิธีนี้ก็คือการทำตัวเองให้ต่ำลงเหมือนเขา แต่ผู้ที่มีปัญญาย่อมรู้ดีว่าการทำให้เขาเจ็บปวดที่ดีกว่านั้นก็คือการทำตนให้ดีกว่าเขา เก่งกว่าเขา ประสบความสำเร็จมากกว่าเขา หรือเป็นสุขเบิกบานใจยิ่งกว่าเขา



     
  6. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,518
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,089
    (ต่อ)
    อย่างไรก็ตามการล้างแค้นแบบสร้างสรรค์สามารถนำความทุกข์มาให้แก่เราได้ตราบเท่าที่เรายังไม่เก่งกว่าเขาหรือประสบความสำเร็จมากกว่าเขา เบื้องหลังการล้างแค้นดังกล่าวคือความโกรธเกลียดซึ่งสามารถเผาลนจิตใจเราได้ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้จึงมีวิธีที่ดีกว่านั้นอีก นั่นคือ การให้อภัย การให้อภัยมิได้หมายถึงยอมรับการกระทำไม่ดีของเขา แต่หมายถึงการปลดเปลื้องความโกรธเกลียดและอาฆาตพยาบาทออกไปจากจิตใจของเรา แม้เราจะยอมรับการกระทำของเขาไม่ได้ แต่เราสามารถยอมรับเขาในฐานะมนุษย์ได้ การฆ่า การหลอกลวง หรือการดูหมิ่นเหยียดยาม เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องวันยังค่ำ แต่คนเราอาจทำสิ่งนั้นเพราะความพลั้งเผลอ เพราะความไม่รู้ เพราะความเข้าใจผิด หรือเพราะอารมณ์ชั่ววูบ เขาอาจทำเพราะแรงบีบคั้นจากความเจ็บปวดในอดีต หรือเพราะเคยถูกกระทำย่ำยีมาก่อนก็ได้ ในฐานะที่เป็นเพื่อนทุกข์ เขาควรได้รับการให้อภัยจากเรา ในฐานะที่เรามีหน้าที่ทำตนให้เป็นสุข เราควรปลดเปลื้องความอาฆาตพยาบาทไปจากจิตใจ

    มิใช่แต่การล้างแค้นเท่านั้นที่อยู่คู่กับมนุษย์ การให้อภัยและการสมานไมตรีก็เป็นส่วนหนึ่งของมนุษยชาติมาช้านาน อย่าว่าแต่คนเลย แม้แต่สัตว์ก็รู้จักคืนดี นักสัตววิทยาที่สังเกตพฤติกรรมของลิงในสวนสัตว์และป่าธรรมชาติพบว่า เมื่อลิงทะเลาะเบาะแว้งกัน จะมีความพยายามคืนดีกันเสมอ หากไม่ “วาน”ตัวกลางให้ช่วยไกล่เกลี่ย คู่กรณีตัวใดตัวหนึ่งก็จะเป็นฝ่ายริเริ่มเข้าหา งอนง้อ หรือทำดีด้วย ไม่ว่าอีกฝ่ายจะเคยกราดเกรี้ยวคู่กรณีเพียงใด แต่ในที่สุดก็จะคืนดีด้วยการเกาหลังให้กันและกัน

    มนุษย์ไม่ได้มีแต่ความโกรธเกลียดเท่านั้น เรายังมีเมตตา กรุณา และความเข้าใจด้วย ความสามารถในการให้อภัยจึงอยู่ในใจของเราทุกคน จะว่าไปการให้อภัยเป็นกลไกอย่างหนึ่งในการปกป้องตนเอง มิใช่ปกป้องจากศัตรูภายนอก แต่ปกป้องจากศัตรูภายใน ได้แก่ความโกรธเกลียดและอาฆาตพยาบาทนั่นเอง หากความโกรธเกลียดและอาฆาตพยาบาทคือมีดกรีดใจ การให้อภัยก็คือยาสมานใจนั่นเอง ใจที่ไร้ยาสมานย่อมมีแผลเรื้อรัง ชีวิตที่ให้อภัยไม่เป็นย่อมหาความสุขได้ยาก

    เราจะสุขหรือทุกข์มิใช่เพราะมีใครมาทำให้ หากอยู่ที่ใจของเราเอง ไม่มีใครทำลายศักดิ์ศรีของเราได้นอกจากตัวเราเอง ถึงที่สุดแล้วเราต้องเลือกว่าเราจะมีชีวิตอยู่อย่างไร ระหว่างการหล่อเลี้ยงความโกรธเกลียดเอาไว้ หรือการบ่มเพาะเมตตาและกรุณา ผู้คนเป็นอันมากเลือกอย่างแรกจึงจมปลักอยู่ในความทุกข์ ส่วนผู้มีปัญญาเลือกอย่างหลังจึงเป็นสุขอยู่เสมอ

    ความอาฆาตพยาบาทนั้นมีความทรงจำเป็นตัวหล่อเลี้ยง แต่ก็มิได้หมายความว่าเราต้องลืมก่อนถึงจะให้อภัยได้ การให้อภัยมิได้เกิดจากการหลงลืมแต่เกิดจากความตระหนักรู้ถึงโทษของความโกรธ ที่สำคัญก็คือเกิดจากความเข้าใจในคู่กรณี โดยเฉพาะเมื่อเห็นถึงความเป็นมนุษย์ของเขาซึ่งไม่ต่างจากเรา อีกทั้งเห็นถึงความทุกข์ของเขาด้วย เราสามารถจะให้อภัยโดยไม่ลืมได้

    คิม ฟุค ถูกไฟจากระเบิดนาปาล์มของอเมริกาเผาลวกทั้งตัวจนเกือบเอาชีวิตไม่รอด อีกทั้งยังสูญเสียลูกพี่ลูกน้อง ๒ คนจากเหตูการณ์ แม้แผลจะหายหลังจากผ่าตัดถึง ๑๗ ครั้ง แต่ความแค้นฝังใจเธอร่วม ๒๐ ปี แต่ในที่สุดเธอก็ให้อภัยทหารอเมริกันเมื่อเธอประจักษ์แก่ใจว่า “การบ่มเพาะความเกลียดเอาไว้สามารถฆ่าฉันได้” เธอพบว่าสิ่งที่ทำร้ายเธอจริง ๆ มิใช่ใครที่ไหน หากได้แก่ความเกลียดที่ฝังแน่นในใจเธอนั่นเอง

    อาซิม กามิซา สูญเสียทาริก ลูกชายคนเดียววัย ๑๔ ปีเพราะความคิดชั่วแล่นของวัยรุ่นอีกคนหนึ่งที่ต้องการอวดความเก่งกล้าสามารถของตนให้เพื่อนร่วมแก๊งได้เห็น แม้จะเจ็บปวดแต่เขาก็ให้อภัยวัยรุ่นคนนั้น เพราะเห็นว่า “การแก้แค้นไม่อาจช่วยอะไรได้ เอาชีวิตทาริคกลับมาได้ไหม การแก้แค้นมีแต่จะทำให้ความรุนแรงที่คร่าชีวิตทาริคยืดยาวต่อไป” เขาพบว่าตัวการที่ฆ่าลูกเขาไม่ใช่ใครอื่น หากคือวัฒนธรรมแห่งความรุนแรงในหมู่วัยรุ่นต่างหาก เขาจึงต้องต่อสู้กับความรุนแรงนี้ด้วยการตั้งมูลนิธิในนามลูกของตนเพื่อส่งเสริมให้คนหนุ่มสาวเห็นโทษของความรุนแรงในการแก้ปัญหา

    ในทำนองเดียวกันเมื่อแม่ของสิบเอกสามารถ กาบกลางดอน ต้องสูญเสียลูกชายในเหตุการณ์นองเลือดที่ปัตตานี (ซึ่งโยงกับกรณีกรือเซะ)เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๔๗ แทนที่จะเรียกร้องการล้างแค้น เธอกลับให้อภัยฝ่ายตรงข้าม เพราะไม่ต้องการให้คนอื่นต้องเจ็บปวดเช่นเดียวกับเธอ “ฉันไม่อยากเห็นสิ่งอย่างนี้เกิดขึ้นอีกต่อไป ไม่ว่ากับใครอีกเราควรจะหยุดฆ่ากันได้แล้ว นี่เป็นความสูญเสียของทุกฝ่าย ฉันก็เสียลูกชายเหมือนแม่คนอื่น ๆ อีกหลายคน"

    “เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่ระงับด้วยการไม่จองเวร” นี้มิใช่เป็นแค่คำสอนทางพุทธศาสนา หากเป็นความจริงที่อยู่เหนือกาลเวลาและเป็นสากล การแก้แค้นไม่เคยชำระปัญหาให้จบสิ้น อีกทั้งไม่สามารถนำความสุขมาสู่ชีวิต การให้อภัยต่างหากที่ทำให้ปัญหายุติได้ ต่อเมื่อชำระใจให้ปลอดจากความแค้น เมื่อนั้นชีวิตจึงจะพบความสงบเย็นอย่างแท้จริง
    :- https://visalo.org/article/matichon255202.htm
     
  7. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,518
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,089
    อิสรภาพที่กลางใจ
    พระไพศาล วิสาโล
    ความเห็นแก่ตัวเป็นธรรมชาติหรือลักษณะนิสัยที่เห็นได้ชัดที่สุดของมนุษย์ทุกคน แต่ความเห็นแก่ตัวไม่ใช่สิ่งเลวร้ายไปเสียหมด อย่างน้อยมันก็จำเป็นต่อความอยู่รอดของทุกชีวิต ทุกชีวิตนั้นไม่ว่าคน สัตว์ พืช มีหน้าที่ประการแรกสุดคืออยู่รอดให้ได้เพื่อแพร่พันธุ์ จะทำเช่นนั้นได้ต้องมีความเห็นแก่ตัวหรือนึกถึงตัวเองก่อน โดยเฉพาะเมื่อทรัพยากรมีจำกัด ถ้าไม่มีความเห็นแก่ตัวก็อาจไม่มีแรงขับให้ไปแข่งขันหรือแย่งชิงทรัพยากรเหล่านั้นมาจนสำเร็จ

    ความเห็นแก่ตัวทำให้เรามีความสุขที่ได้เสพและครอบครอง ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียง และอำนาจ ยิ่งได้เสพและครอบครองมากเท่าไร ก็ยิ่งมีความสุขเท่านั้น ทุนนิยมและบริโภคนิยมมีเสน่ห์กับผู้คนก็เพราะมันตอบสนองความเห็นแก่ตัวและปรนเปรอความสุขประเภทนี้ได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตามความเห็นแก่ตัวเป็นตัวการสำคัญทำให้ผู้คนเป็นทุกข์เมื่อต้องสูญเสียทรัพย์หรือพลัดพรากจากชื่อเสียง อำนาจ อีกทั้งยังเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดความโลภอย่างไม่สิ้นสุดและเป็นแรงขับให้เกิดความโกรธเกลียดเมื่อไม่สมหวัง ทั้งความโลภและความโกรธเกลียดล้วนเป็นไฟเผาลนจิตใจ ดังนั้นยิ่งเห็นแก่ตัวมากเท่าไร ก็ยิ่งทุกข์มากเท่านั้น


    แต่คนเราไม่ได้มีแต่ความเห็นแก่ตัวเท่านั้น ลึกลงไปในจิตใจเรายังมีความเห็นอกเห็นใจและปรารถนาดีต่อผู้อื่น ความเสียสละ และความเชื่อมั่นในสิ่งดีงาม อาทิ ความซื่อสัตย์สุจริต ทั้งหมดนี้เรียกรวม ๆ กันว่าคุณธรรม ธรรมชาติส่วนนี้เองที่ทำให้เรามีความสุขที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น หรือสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้แก่ส่วนรวม แม้ตนเองจะลำบากหรือสูญเสียทรัพย์ การที่เราภูมิใจเมื่อได้ทำความดี แม้ไม่ได้รางวัลหรือคำสรรเสริญ ก็เพราะเรามีความใฝ่ดีอยู่ในจิตใจด้วยกันทั้งนั้น ธรรมชาติส่วนนี้ทำให้เราสามารถมีความสุขได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงทรัพย์ ยศ อำนาจ เป็นความสุขทางใจที่ประณีตและลึกซึ้งกว่าความสุขอย่างแรก ศาสนามีความสำคัญกับมนุษย์ก็เพราะตระหนักถึงธรรมชาติส่วนนี้ของมนุษย์ อีกทั้งยังสามารถนำพามนุษย์เข้าถึงความสุขทางใจได้ด้วย

    ธรรมชาติที่เป็นความเห็นแก่ตัวนั้น เปรียบเสมือนเปลือกหรือผิวชั้นแรกของจิตใจ ถัดจากนั้นลงมาคือธรรมชาติส่วนที่เป็นคุณธรรมหรือความใฝ่ดี จิตใจของคนที่มีความเห็นแก่ตัวมาก (ไม่ว่าจากการกล่อมเกลาเลี้ยงดูหรือจากการดำเนินชีวิตที่ผิดทาง) ย่อมมีเปลือกหรือผิวชั้นแรกที่หนา จนยากที่คุณธรรมหรือความใฝ่ดีจะฝ่าออกมาได้ ส่วนคนที่มีความเห็นแก่ตัวน้อย เปลือกหรือผิวชั้นแรกจะบาง เปิดโอกาสให้คุณธรรมหรือความใฝ่ดีแสดงตัวออกมาได้ง่าย

    คุณธรรมหรือความใฝ่ดีนั้นแสดงตัวออกมาได้ด้วยหลายสาเหตุ ประการแรกคือ เมื่อเห็นหรือรับรู้ความทุกข์ของผู้อื่น เมตตาหรือความปรารถนาดีนั้นย่อมทนเฉยได้ยากเมื่อเห็นผู้อื่นกำลังประสบความทุกข์ คนธรรมดาย่อมรู้สึกกระอักกระอ่วนใจหากเมินเฉยคนที่ล้มป่วยต่อหน้า เขาย่อมลงมือช่วยเหลือผู้ป่วยคนนั้นแม้ว่าจะต้องเสียงานเสียการก็ตาม แต่ถ้าความเห็นแก่ตัวมีมาก เมตตาย่อมไม่มีพลังพอที่จะฝ่าเปลือกชั้นแรกซึ่งหนากระด้างออกมาได้ เว้นเสียแต่ว่าความทุกข์ยากนั้นเกิดขึ้นอย่างท่วมท้น ดังกรณีสึนามิ ในยามนั้นเปลือกหนาของผู้คนจำนวนมากถูกกะเทาะออก เปิดช่องให้ความดีได้พรั่งพรูออกมา จนเกิดคลื่นน้ำใจหลั่งไหลสู่ผู้ประสบทุกข์อย่างไม่เคยมีมาก่อน เมตตาและความเสียสละของคนนับพัน ๆ มีพลังถึงขั้นเอาชนะความกลัวและความรักสบาย สามารถไปกินนอนอยู่ข้างศพที่เน่าเหม็นด้วยวัตถุประสงค์เพียงประการเดียวเท่านั้น คือ “พาเขากลับบ้าน”

    คุณธรรมหรือความดียังมีพลังจนสามารถฝ่าเปลือกนอกออกมาได้ เมื่อผู้อื่นทำความดีกับตน อันธพาลที่ชอบแกล้งเพื่อนรุ่นน้อง แต่เลิกนิสัยดังกล่าว หลังจากที่รุ่นน้องช่วยเหลือเขาในยามลำบาก โดยมิได้แสดงความโกรธเกลียดเลย โจรซึ่งกำลังจี้เอาทรัพย์จากเหยื่อ เปลี่ยนท่าทีเมื่อเหยื่อช่วยเขาแก้ตัวกับตำรวจที่เผอิญเดินผ่านมาเห็นเหตุการณ์ ความดีของคน ๆ หนึ่งสามารถปลุกเร้าความดีของอีกคนหนึ่งให้ตื่นขึ้นมาและมีพลังจนสามารถเอาชนะความเห็นแก่ตัวหรือความชั่วได้ ไม่ว่าจะเลวแค่ไหน ความใฝ่ดีก็ยังมีอยู่ในใจเขา แต่อาจหลับไหลหรือสงบงัน แม้กระนั้นก็สามารถฟื้นขึ้นมาและแสดงตัวออกมาให้ปรากฏได้ หากถูกกระตุ้นเร้าด้วยความดีที่ทรงพลังของอีกคนหนึ่ง

    อันที่จริง ไม่ต้องถึงกับมีผู้อื่นมาทำความดีด้วย เพียงแค่มีคนเห็นหรือยอมรับความดีของตน หรือแม้กระทั่งเชื่อมั่นว่าตนมีความดี ก็สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ความใฝ่ดีมีพลังจนกลายเป็นคนใหม่ได้ นักเรียนที่เกเร เหลือขอ จนครูแทบจะหมดหวัง สามารถเปลี่ยนเป็นเด็กว่าง่ายและตั้งใจเรียน เมื่อครูยกย่องความดีบางอย่างของเขาซึ่งคนอื่นมองไม่เห็น การชื่นชมความดีของใครสักคน แม้ตอนนั้นเขาอาจไม่ได้ทำตัวให้ดีสมกับคำชื่นชม แต่ก็สามารถปลุกเร้าความใฝ่ดีในใจเขาให้มีพลังจนเปลี่ยนนิสัยได้ ครูที่ติดการพนันจนถึงกับตั้งบ่อนหน้าโรงเรียน เลิกนิสัยดังกล่าวและกลายเป็นครูที่น่าศรัทธา เพราะได้ยินนายอำเภอกล่าวสรรเสริญครูว่าเป็นปูชนียบุคคลที่ตนสามารถไหว้ได้อย่างสนิทใจ แม้ตอนนั้นจะรู้สึกอับอาย แต่ก็ทำให้ความอยากเป็นครูดีเกิดมีพลังฮึดสู้ขึ้นมา จนเอาชนะนิสัยติดการพนันได้

     
  8. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,518
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,089
    (ต่อ)

    ในยามที่จิตมีความสงบ มีปิติ หรือเป็นสมาธิ กุศลภาวะดังกล่าวสามารถปลุกคุณธรรมหรือความใฝ่ดีให้มีพลังขึ้นมาได้เช่นกัน เมื่อบุคคลได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่สงบสงัด หากจิตน้อมสู่ความสงบ ความเห็นแก่ตัวจะลดลง ความเมตตาปรารถนาดีจะบังเกิดขึ้น ในทำนองเดียวกันเมื่ออยู่ต่อหน้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระพุทธรูป หรือเห็นผู้อื่นทำความดีต่อกัน ปีติทีเกิดขึ้นย่อมหนุนเสริมให้ความใฝ่ดีมีพลังจนสามารถชำแรกเปลือกชั้นแรกออกมาได้

    อย่างไรก็ตาม จิตของเราไม่ได้มีธรรมชาติเพียงสองชั้นหรือสองระดับเท่านั้น ลึกลงไปยังมีธรรมชาติชั้นที่สาม ซึ่งถือได้ว่าอยู่กลางใจ ได้แก่ สภาวะที่เป็นอิสระ ปลอดโปร่ง ผ่องใส ปลอดพ้นจากความเห็นแก่ตัว หรือความยึดถือในตัวตน เป็นสภาวะที่เส้นแบ่งระหว่าง “ฉัน” กับ “ผู้อื่น” หมดไป เกิดความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง จิตอยู่เหนือการแบ่งเป็นขั้วหรือมองโลกเป็นคู่ตรงข้าม ไม่ว่าดี-ชั่ว สุข-ทุกข์ ได้-เสีย เกิด-ตาย ดังนั้นจึงไม่หวั่นไหวกับความผันผวนปรวนแปร หรือความพลัดพรากสูญเสีย เป็นสภาวะที่อยู่เหนือโลกธรรม ไม่ว่าการได้หรือเสื่อมจากลาภ ยศ สุข สรรเสริญ สภาวะดังกล่าวมีชื่อเรียกอย่างหนึ่งว่า “โลกุตตระ” ท่านอาจารย์พุทธทาสบางทีก็เรียกว่า “จิตว่าง”
    สภาวะดังกล่าวเป็นธรรมชาติส่วนที่ลึกซึ้งที่สุด ซึ่งมนุษย์ทุกคนสามารถประจักษ์ได้ ดังมีพุทธพจน์ว่า “อริยโลกุตตรธรรมเป็นทรัพย์ประจำตัวของทุกคน” และอีกที่หนึ่งว่า “จิตนั้นประภัสสร แต่เศร้าหมองเพราะอุปกิเลสที่เกิดขึ้นภายหลัง” แม้แต่โจรหรือฆาตกรก็มีธรรมชาติส่วนนี้อยู่ แต่ความเห็นแก่ตัวขัดขวางไว้จึงไม่สามารถแสดงตัวออกมาได้ ขณะที่คนดีจำนวนไม่น้อยก็ติดอยู่ในความดีและยึดมั่นในตัวตนอยู่ จึงไม่สามารถประจักษ์ซึ่งโลกุตตรสภาวะได้ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่สามารถสัมผัสได้เลย ยามที่จิตว่างจากกิเลส คลายความยึดถือในตัวตน มีสติรู้ทันในผัสสะและเวทนาจนตัวตนไม่อาจเกิดขึ้นได้ สภาวะดังกล่าวก็สามารถปรากฏให้สัมผัสได้แม้ชั่วขณะ ดังท่านอาจารย์พุทธทาสเรียกว่า “นิพพานน้อย ๆ”

    คำว่า “จิตวิญญาณ” (spirituality) ซึ่งถูกนิยามกันอย่างหลากหลาย กล่าวอย่างถึงที่สุดก็หนีไม่พ้นธรรมชาติสองชั้นในสุด คือ ธรรมชาติส่วนที่เป็นคุณธรรม กับธรรมชาติส่วนที่อยู่เหนือโลกและตัวตน

    พุทธศาสนายอมรับธรรมชาติทั้งสามระดับ หลัก “อัตถะ ๓” มีขึ้นเพื่อสนองความต้องการในสามระดับของมนุษย์ กล่าวคือ
    ๑)ทิฏฐธัมมิกัตถะ หรือประโยชน์ปัจจุบัน เน้นสิ่งซึ่งจับต้องได้ (เช่น ทรัพย์สมบัติ อาชีพการงาน สถานภาพ) เป็นการตอบสนองธรรมชาติที่มุ่งประโยชน์ส่วนตน
    ๒) สัมปรายิกัตถะ หรือ ประโยชน์ขั้นเลยตาเห็น เน้นความรู้สึกที่เป็นกุศล (เช่น ความภูมิใจ ความอิ่มใจ)เพื่อส่งเสริมธรรมชาติที่ใฝ่ดีมีคุณธรรม และ
    ๓) ปรมัตถะ หรือจุดหมายสูงสุด มุ่งที่การเสริมสร้างธรรมชาติส่วนที่สามให้ประจักษ์แจ้ง
    ความทุกข์ของมนุษย์ กล่าวโดยสรุป เกิดขึ้นเพราะการไม่รู้ในธรรมชาติของตนอย่างรอบด้าน ทำให้ติดอยู่ในเปลือกชั้นแรก หรือไม่สามารถข้ามพ้นธรรมชาติชั้นที่สอง เพื่อเข้าถึงสภาวะที่อิสระโปร่งโล่งอย่างแท้จริง หน้าที่ต่อชีวิตแท้จริงแล้วมิได้มีเพียงเพื่อรักษาตนให้อยู่รอดและแพร่พันธุ์เท่านั้น หากยังต้องคำนึงถึงเพื่อนมนุษย์ และนำพาตนให้เข้าถึงอิสรภาพและความสุขสงบอย่างแท้จริง
    :- https://visalo.org/article/matichon254904.htm

     
  9. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,518
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,089
    เจอทุกข์แต่ไม่ทุกข์
    พระไพศาล วิสาโล
    คนเราจะพ้นทุกข์ได้ก็ต้องรู้จักทุกข์ ถ้าเรารู้จักทุกข์แล้วจะพ้นทุกข์ได้ แต่ถ้าเราไม่รู้จักทุกข์ก็ไม่มีทางที่จะเกิดปัญญาพาใจให้พ้นทุกข์ได้เลย แล้วเราจะรู้จักทุกข์ได้อย่างไร ก็ต้องเจอทุกข์บ่อยๆ เหมือนเราเล่นฟุตบอล เราเจอคู่ต่อสู้ที่เก่งและแกร่งมาก วิธีที่เราจะเอาชนะทีมนี้ได้คือต้องเล่นกับเขาบ่อยๆ เล่นบ่อยๆ จนรู้ทางและรู้จุดอ่อนของเขา ความทุกข์ไม่ว่าจะมีจุดแข็งแค่ไหนก็ต้องมีจุดอ่อนที่เราสามารถจะรู้ได้ หรือสามารถจะรู้ทางกันได้ เมื่อเรารู้ทางแล้วก็สามารถเอาชนะได้ อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้ปัญญา ใหม่ๆ ก็ต้องยอมแพ้ สู้เขาไม่ได้ก็แพ้ไป เมื่อแพ้แล้วก็ไม่ได้คร่ำครวญ แต่มาใคร่ครวญว่าแพ้เพราะอะไร จนกระทั่งรู้ว่าเป็นเพราะเรามีจุดอ่อนอย่างนี้ ๆ และใคร่ครวญจนเห็นจุดอ่อนของเขาด้วย ความทุกข์ก็มีจุดอ่อน ถ้าเรารู้จักจุดอ่อนของมัน เราก็สามารถจัดการเป็นนายความทุกข์ ไม่ใช่เป็นทาสของความทุกข์

    หลวงพ่อคำเขียนอุปมาเหมือนกับช้างหรือควาย ตัวมันใหญ่ แรงมันเยอะมาก มนุษย์เราสู้ไม่ได้เลยถ้าพูดถึงพละกำลัง แต่ทำไมมนุษย์เราถึงสามารถล่ามควายได้ ทำไมเราถึงสามารถควบคุมช้างได้ ช้างยอมให้เราขึ้นไปอยู่บนหลังและสามารถควบคุมมันได้เพราะเหตุใด ควายก็มีจุดอ่อนตรงจมูก ถ้าเอาเชือกสนตะพายได้มันก็อยู่ในอำนาจของเรา ช้างก็มีจุดอ่อนเหมือนกัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่น่ากลัวล้วนมีจุดอ่อน ความทุกข์ก็มีจุดอ่อน จุดอ่อนอยู่ที่ไหน จุดอ่อนอยู่ตรงที่ว่าถ้าเรารู้ทุกข์เมื่อไหร่มันก็หมดฤทธิ์พิษสงทันที มันพ่ายแพ้ต่ออาการรู้ เหมือนกับโจรกำลังจะเข้าบ้าน ถ้าเจ้าบ้านเห็นโจร โจรก็หนีกระเจิง ความทุกข์มันมีจุดอ่อนอย่างนี้เหมือนกัน

    เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ควรกลัวความทุกข์ เวลาเจอความทุกข์หรือเจอปัญหา ก็อย่าปฏิเสธผลักไสที่จริงหากสบายมากไปก็ควรพาตัวเข้าหาความทุกข์หรือความยากลำบากบ้าง อย่าลืมว่าทุกข์ไม่ได้มีไว้ให้คร่ำครวญหรือโวยวาย ทุกข์มีไว้ให้ใคร่ครวญ ทุกข์มีไว้เพื่อฝึกให้เราเข้มแข็ง แต่จะทำอย่างนั้นได้ต้องมีสติ โดยเฉพาะการหมั่นรู้ใจดูใจของเรา

    คนเรามักจะมองออกไปนอกตัว ซึ่งบ่อยครั้งก็จำเป็นเพราะความทุกข์ของคนเรามักจะมาจากสิ่งภายนอก ธรรมชาติจึงให้อายตนะมาถึง ๕ อย่างเพื่อให้เรารอดพ้นจากอันตราย ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กายสัมผัส แต่ขณะเดียวกันมันก็เป็นจุดอ่อนที่ทำให้เราเผลอได้ มีเรื่องเล่าว่ามีหัวขโมยกับเศรษฐี บังเอิญต้องมานอนพักค้างแรมในโรงเตี๊ยมเดียวกันอยู่หลายวัน ช่วงนั้นมีงานจาริกแสวงบุญ ทั้งสองคนหาที่พักไม่ได้เลยต้องมานอนอยู่ในห้องเดียวกัน หัวขโมยก็เล็งเอาทรัพย์จากเศรษฐี ทุกเย็นเมื่อถึงเวลาอาหาร หัวขโมยจะออกอุบาย บอกเศรษฐีว่าคุณลงไปกินอาหารก่อนนะ ผมขออาบน้ำก่อน พอเศรษฐีลงไปกินอาหาร หัวขโมยก็จะออกมาจากห้องน้ำและเริ่มค้นกระเป๋าของเศรษฐี รวมทั้งค้นใต้เตียง ใต้หมอน ของเศรษฐี เพราะเชื่อแน่ว่าเศรษฐีต้องซ่อนเงินเอาไว้ เนื่องจากเศรษฐีใส่ชุดลำลองออกไป ไม่น่าจะพกเงินไปได้ แต่หัวขโมยก็ไม่เจอเงิน

    วันรุ่งขึ้นก็ใช้อุบายเดียวกันนี้ เศรษฐีว่าง่าย ลงไปกินอาหาร ส่วนขโมยก็ลงมือค้นหาเงินของเศรษฐีอีก ทำอย่างนี้อยู่ ๓ วันไม่เจอเงินเลย จึงกลัดกลุ้มใจว่าเป็นไปได้อย่างไร เศรษฐีก็ไม่ได้เอาเงินลงไป เมื่อเศรษฐีจะออกจากโรงเรียน ขโมย จึงถามเศรษฐีตรง ๆ ว่า ช่วยบอกทีเถอะว่าคุณเอาเงินไปซ่อนไว้ที่ไหน พร้อมกันนั้นก็สารภาพว่าตัวเองเป็นหัวขโมย อยากจะรู้จริง ๆ เศรษฐีก็เฉลยว่า “ตอนคุณเข้าห้องน้ำ ผมก็เอาเงินไปไว้ใต้หมอนของคุณ”

    คำตอบของเศรษฐีเป็นสิ่งที่ขโมยไม่เคยคิดมาก่อน ขโมยค้นทุกจุดเลยนะ แต่จุดเดียวที่ลืมค้นก็คือใต้หมอนใต้เตียงของตัว เป็นเพราะอะไร มันสะท้อนธรรมชาติของคนเรา คือเรามักจะมองข้ามสิ่งใกล้ตัว ยิ่งใกล้ตัวที่สุดก็ยิ่งมองข้าม สิ่งที่อยู่ใกล้ตัวไม่ได้หมายถึงสิ่งของหรือคนที่อยู่ใกล้ตัวเท่านั้นแต่ยังรวมถึงสิ่งที่อยู่ในตัวด้วย และสิ่งที่ใกล้ตัวเราที่สุดก็คือจิตใจ คนเรามักมองข้ามจิตใจของตัวเอง ดังนั้นเวลาเรามีความทุกข์ เราจะมองไปที่ภายนอกว่าเป็นตัวการทำให้เราทุกข์ แต่เราไม่ค่อยหันมาดูใจของเราเท่าไร ว่าใจของเราต่างหากที่เป็นตัวการ เวลาเราปวด เวลาเราเจ็บ เราก็จะโทษสิ่งภายนอก โทษถนน โทษแดด โทษคนที่อยู่ข้างๆ โทษคนที่อยู่ข้างหน้า แต่เราลืมดูใจของเราที่กำลังบ่น งอแง โวยวาย หงุดหงิด ใจอย่างนี้ต่างหาก ที่ทำให้คนเราทุกข์มากกว่าอย่างอื่น
     
  10. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,518
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,089
    (ต่อ)
    เวลามีอะไรมากระทบใจ หรือกระทบกาย ไม่ใช่ว่าเราทุกข์ทันที มันจะมีข้อต่อตรงกลางที่เป็นสะพานให้ความทุกข์เข้ามาถึงใจ เวลาเจอแดด เจอฝน เจอเสียงดัง เราไม่ได้ทุกข์ทันที มันต้องผ่านข้อกลางหรือสะพานก่อน ข้อกลางหรือสะพานนั้นคืออะไร ถ้าพูดอย่างง่ายๆ คือความหลงลืม ความไม่มีสติ เมื่อไม่มีสติ เวลามีอะไรมากระทบมันก็แล่นตรงไปถึงใจทันที ทำให้ทุกข์

    เคยเล่าเรื่องหลวงปู่บุดดา ถาวโรแล้ว มีเสียงดังจากห้องข้างเคียง ทำให้ลูกศิษย์รำคาญ หงุดหงิด เพราะรบกวนหลวงพ่อที่กำลังจำวัด ลูกศิษย์จึงบ่นออกมาว่า เดินเสียงดังจัง หลวงพ่อแม้จะหลับแต่ก็ได้ยิน จึงพูดเบา ๆ ว่า “เขาเดินของเขาอยู่ดีๆ เราเอาหูไปรองเกี๊ยะเขาเอง” เราเอาหูไปรองเกี๊ยะเขาเพราะอะไรเพราะเราไม่มีสติ เมื่อเสียงเกี๊ยะมากระทบหู เราไม่ได้ทุกข์ทันที มันต้องมีความหลงลืมเกิดขึ้นก่อน ความทุกข์ถึงจะเดินไปถึงใจได้ แต่ถ้าเรามีสติ ก็เหมือนกับเรากำลังชักสะพานออก เหมือนกับว่าข้อตรงกลางมันหลุด เสียงที่มากระทบก็ไม่สามารถกระเทือนไปถึงใจได้ เมื่อสะพานถูกชักออกแล้ว มันก็ไม่สามารถเข้ามาถึงใจได้

    สตินั้นสำคัญมาก สติก็คือใจของเรานี่แหละ เราต้องหัดมาดูใจของเรา แล้วชีวิตเราจะง่ายขึ้น จะทุกข์น้อยลง การดูใจเป็นสิ่งที่ทำกันได้ ฝึกฝนกันได้แม้แต่เด็กๆ มีเด็กชายคนหนึ่งชื่อปลาวาฬอายุแค่ ๔ ขวบ วันหนึ่งถูกแม่ดุ ธรรมดาเด็กเวลาถูกแม่ดุก็มักเถียงแม่หรือแสดงอาการฮึดฮัด แต่ปลาวาฬไม่ทำอย่างนั้น พอถูกแม่ดุ ปลาวาฬก็เดินออกไปทันที แม่สงสัย ถามปลาวาฬว่าจะไปไหน ปลาวาฬตอบว่า “ไปสงบสติอารมณ์”

    ปลาวาฬรู้ดีว่าตอนนี้กำลังอารมณ์ไม่ดี ถ้าคนปกติเมื่ออารมณ์เสีย ก็ไม่คอยรู้หรอกว่าอารมณ์เสีย คิดแต่จะระบายอารมณ์ใส่คนอื่น เช่นระบายใส่แม่ แต่ปลาวาฬรู้ว่าตอนนี้ใจกำลังโกรธ และรู้ด้วยว่าความโกรธไม่ดี ก็เลยเดินหนีเพื่อไปสงบสติอารมณ์ แสดงว่าเขาเห็นแล้วว่าตัวการอยู่ที่ใจ ความโกรธนั่นแหละที่ทำให้ใจทุกข์ ก็เลยพยายามจัดการที่ใจของตน แทนที่จะไปโวยวายใส่แม่

    น้องไอซ์อายุประมาณ ๔ - ๕ ขวบวิ่งไปชนประตูกระจกอย่างแรง เสียงดังไปถึงหูของแม่ที่กำลังทำครัวอยู่ แม่ตกใจรีบวิ่งไปหาลูก พอจะเข้าไปโอบกอดปลอบใจน้องไอซ์ น้องไอซ์กลับบอกว่า “แม่ไม่ต้องๆ น้องไอซ์นั่งสมาธิก่อน เดี๋ยวก็หาย” ธรรมดาเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตามเวลาเดินหรือวิ่งชนกระจก อย่างแรกที่เรามักทำคือโวยวายว่า ใครปิดประตูอย่างนี้ โทษคนโน้นโทษคนนี้ แล้วก็ระบายความโกรธ หากไม่รู้จะระบายใส่ใคร ก็ระบายใส่กระจก อาจจะเตะกระจกให้หายแค้น แต่น้องไอซ์ไม่ได้ทำอย่างนั้น กลับนั่งสมาธิ เพราะรู้ว่าถ้าทำสมาธิแล้วความปวดจะทุเลาลง

    เด็กเขารู้ได้ แม้อายุไม่กี่ขวบ เขาก็รู้ว่าเวลาปวดขึ้นมา ถ้านั่งสมาธิก็หายหรือบรรเทาได้ เด็กอาจจะรู้ด้วยซ้ำว่าเวลาปวดกายแล้ว มันยังปวดใจ ทำให้เกิดโทสะขึ้นมา ซึ่งซ้ำเติมให้ความปวดกายรุนแรงขึ้น น้องไอซ์อาจจะรู้ว่าถ้านั่งสมาธิแล้วจะช่วยระงับใจไม่ให้เกิดโทสะ ซึ่งทำให้ความทุกข์กายลดลง หรือเขาอาจจะเห็นด้วยว่าถ้านั่งสมาธิแล้วทุกข์กายก็จะเบาลงด้วย นี่เป็นสิ่งที่ฝึกกันได้ ถ้าพ่อแม่ฉลาด ก็ฝึกให้ลูกรู้อย่างนี้ได้

    แต่พวกเราหลายคนโตแล้ว ก็ต้องฝึกเอง ทำอย่างไร ก็ต้องมาฝึกกันแบบนี้ ใช้ทุกอย่างที่เกิดขึ้นให้เป็นประโยชน์ ไม่มีใครอยากจะมาเจอความทุกข์ แต่ว่าเมื่อทุกข์เกิดขึ้นแล้วก็ต้องรู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์ เช่น ใช้เป็นเครื่องฝึกสติ อย่างนี้เรียกว่าทุกข์เป็น ถ้าทุกข์ไม่เป็นก็แย่ พวกเราจึงอย่าไปกลัวความทุกข์ อย่าไปกลัวความยากลำบาก

    เด็กสมัยนี้ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องลำบากด้วย ทำไมต้องอยู่แบบเรียบง่าย ทำไมไม่อยู่แบบหรูหรา เราก็มีกินมีใช้ ทำไมไม่กินให้มันเต็มที่ สนุกให้มันเต็มที่ คำตอบก็คือ เพราะมันจะทำให้เราอ่อนแอ ทำให้เราประมาท ทำให้เราติดสบายจนกระทั่งกลายเป็นทาสของความสบาย พอไม่มีความสบายก็จะเป็นทุกข์ กลายเป็นคนทุกข์ง่าย สุขยาก เพราะได้เท่าไหร่ก็ไม่พอ สบายเท่าไหร่ก็ไม่พอ นี่คือธรรมชาติของความสะดวกสบาย คือมันไม่มีขีดจำกัด มันต้องการเรื่อยๆ ไม่เคยเกิดความรู้สึกพอสักที แต่ถ้าเราฝึกใจให้มีสติเราก็จะรู้ว่าเมื่อไหร่ควรพอ เมื่อไหร่ควรหยุด เราจะรับมือกับสิ่งต่างๆ ได้ กลายเป็นคนสุขง่าย ทุกข์ยาก
    :- https://visalo.org/article/komol255405.htm
     
  11. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,518
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,089
    ความดีที่ห้องสุขา
    รินใจ
    คุณปวดท้องกะทันหันขณะเดินเที่ยวห้าง จึงรีบเข้าห้องสุขา แต่หลังจากถ่ายทุกข์เสร็จก็พบว่ากระดาษชำระหมดเกลี้ยง คุณใจหายวาบ แต่พอมองไปรอบ ๆ ก็เห็นกระดาษชำระ ๒-๓ ม้วนอยู่บนหิ้ง คุณรีบหยิบมาทำธุระส่วนตัวจนเสร็จ ทีนี้เกิดคำถามขึ้นมาว่าม้วนกระดาษชำระที่เหลือ จะเอาไปวางไว้ตรงไหน วางบนหิ้งตามเดิม หรือเอาไปใส่ไว้ตรงช่องดึงกระดาษข้าง ๆ ที่ถ่ายทุกข์

    คุณเคยคิดบ้างไหมว่า ทำไมต้องเอาไปใส่ตรงช่องดึงกระดาษด้วย ก็ในเมื่อคนที่เข้าห้องน้ำก่อนหน้าฉันไม่เห็นทำอย่างนั้นให้ฉันเลย ทำไมฉันจะต้องไปทำให้กับคนอื่นด้วย เสร็จธุระของฉันแล้ว กระดาษชำระจะอยู่ตรงไหนฉันก็ไม่เดือดร้อนแล้ว นี่เป็นหน้าที่ของพนักงานทำความสะอาดมิใช่หรือ?

    ถ้าคำถามอย่างนี้เกิดขึ้นกับคุณ คุณจะตอบตัวเองอย่างไร?

    ลองคิดดูอย่างนี้ดีไหมว่า กี่ครั้งกี่หนที่เมื่อเข้าห้องสุขาแล้วเราพบว่ากระดาษชำระในช่องนั้นเพิ่งถูกใส่ลงไปก่อนเราเข้าไปไม่นาน คงไม่ใช่พนักงานทำความสะอาดเท่านั้นที่ทำเช่นนั้น มีบุคคลนิรนามจำนวนนับไม่ถ้วนที่เคยอยู่ในสถานการณ์เดียวกับเรา แต่เขาเลือกที่จะนำกระดาษชำระไปใส่ไว้ในช่อง เพราะนึกถึงคนอื่น ๆ ที่จะเข้ามาใช้ห้องสุขาในภายหลัง เราได้รับความสะดวกเพราะน้ำใจของคนเหล่านี้ ฉะนั้นจะไม่ดีกว่าหรือหากเราจะทำเช่นนั้นบ้างกับคนอื่น ๆ ที่จะมาใช้ห้องสุขาต่อจากเรา

    ใช่หรือไม่ว่า เรามักฝังใจแน่นกับคนที่ทำไม่ดีกับเรา แต่ลับมองข้ามเวลาคนอื่นมีน้ำใจกับเรา เราติดใจมากกับคนที่ใช้กระดาษชำระจนเกลี้ยงแล้วไม่ใส่ม้วนใหม่ให้เรา แต่กับคนที่ใส่กระดาษชำระให้เรา เรากลับเห็นเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่มีค่าควรแก่ความสนใจ ทั้ง ๆ ที่คนกลุ่มหลังนี้มีมากมายแต่เราไม่ใส่ใจ กลับปักใจอยู่กับคนกลุ่มแรกซึ่งมีไม่กี่คน

    มีบางคนคนที่พบกระเป๋าเงินที่เจ้าของทำตกหล่นเอาไว้ เขาเลือกที่จะยึดไว้เป็นของตัวเองแทนที่จะส่งคืนให้แก่เจ้าของ เหตุผลของเขาก็คือ ตอนฉันทำกระเป๋าเงินตก ไม่เห็นมีใครคืนให้ฉันเลย เขาคิดว่าการไม่คืนกระเป๋าแก่เจ้าของเป็นการแก้แค้นที่สมเหตุสมผล แต่จริงหรือที่ว่าตลอดชีวิตเขาไม่เคยได้รับของที่ตนทำหายกลับคืนมาเลย ตอนเด็ก ๆ เขาอาจทำดินสอหรือปากกาหาย แต่แล้วก็ได้คืน เมื่อโตขึ้นอาจลืมหนังสือหรือนาฬิกาทิ้งไว้ที่โรงเรียนแต่ก็ยังได้คืน ยังไม่นับความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลในลักษณะอื่น ๆ อีกมากมาย แต่เรื่องดี ๆ เหล่านั้นเขากลับหลงลืม ตรงกันข้ามกับเรื่องไม่ดี เขากลับจำได้แม่นยำ และถือเป็นเหตุผลที่จะทำความไม่ดีนั้นกับคนอื่น ซึ่งอาจไม่รู้อิโหน่อิเหน่เลย

    การระลึกและซาบซึ้งในความดีของผู้อื่นนั้น มองให้ดีแล้ว ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ทำกันได้ง่าย ๆ เลย โดยเฉพาะคนที่เราไม่คุ้นเคยหรือรู้จัก ด้วยเหตุนี้พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ผู้ที่มีความกตัญญูรู้คุณคนเป็นบุคคลที่หาได้ยาก สมัยนี้การรู้คุณและตอบแทนคุณเป็นเรื่องยากกว่าแต่ก่อนเพราะว่าคนที่เกื้อกูลเรานั้นมีมากมาย มิใช่แค่พ่อแม่พี่น้องหรือเพื่อนบ้านอย่างที่พบเห็นในวิถีชีวิตแบบหมู่บ้านสมัยก่อนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงบุคคลนิรนามอีกมากมาย ซึ่งเราอาจไม่เคยเห็นหน้าด้วยซ้ำ ไม่ใช่แค่คนที่บรรจุกระดาษชำระให้เราใช้สะดวกเท่านั้น แต่รวมไปถึงผู้คนสาขาอาชีพต่าง ๆ ที่ทำงานอย่างอุทิศตนเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม จนทำให้ชีวิตของเรามีความสะดวกสบายดังที่เป็นอยู่

    คนไม่ดีที่เห็นแก่ตัวและก่อปัญหาแก่เรานั้นมีอยู่ไม่น้อย แต่สมควรแล้วหรือที่จะให้ความไม่ดีของเขามาบดบังหรือกลบทับความดีของผู้คนมากมาย การฝังใจอยู่กับความไม่ดีของผู้อื่นทำให้โลกนี้ดูหม่นหมอง ในทางตรงกันข้ามการนึกถึงความดีของผู้คนมากมายจะทำให้เรามีความสุขและอยากทำความดีเพื่อผู้อื่น แม้เป็นคนที่เราไม่รู้จัก

    ถึงจะอยู่ในห้องน้ำเราก็ยังสามารถตอบแทนความดีที่เราได้รับด้วยการมีน้ำใจต่อผู้อื่น จะวางกระดาษชำระไว้ที่ไหน จึงไม่ใช่เรื่องเล็ก อย่างน้อยก็สามารถบอกได้ว่าเราเป็นบุคคลที่หาได้ยากหรือไม่ !
    :- https://visalo.org/article/kidFamily254809.htm
     
  12. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,518
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,089
    ฟังเสียงต้นไม้พูด
    รินใจ
    อรศรีไปเยี่ยมเพื่อนซึ่งมีบ้านอยู่ชานเมือง เธอเห็นต้นไม้ใหญ่สูงเด่นต้นหนึ่งอยู่กลางสวน ก็ชอบใจ แต่เจ้าของบ้านบอกว่ากำลังจะโค่นต้นไม้ต้นนี้ในเร็ว ๆ นี้ เธอแปลกใจจึงถามเหตุผล ก็ได้คำตอบว่า “ตอนซื้อมาคนขายเขาบอกว่ามันจะมีดอก เราก็รอ เฝ้ารอ รดน้ำ ทำอะไรก็แล้ว แต่ปรากฏว่าไม่มีดอกสักที มีแต่ใบ เจ็บใจนัก เลยจะตัดทิ้งเสียเลย”
    อรศรีฟังแล้วก็อึ้ง เพราะแม้ต้นไม้ต้นนี้จะไม่มีดอก แต่ก็ให้ร่มเงาแผ่กว้าง และเป็นที่อาศัยของสัตว์สารพัดชนิด ทั้งนก กระรอก และมด ฯลฯ ถ้าโค่นลงมาแล้ว สัตว์พวกนี้จะอยู่กันอย่างไร
    แต่เจ้าของบ้านนั้นถือว่าตนเองเป็นเจ้าของต้นไม้ต้นนี้ เพราะจ่ายเงินซื้อมา จึงมีสิทธิใช้แต่ผู้เดียว ส่วนสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่เป็นเพื่อนร่วมสวนจะเดือดร้อนอย่างไร เธอไม่สนใจเอาเลย เพราะนึกถึงแต่ประโยชน์ของตนอย่างเดียว ยิ่งสุขทุกข์ของต้นไม้ต้นนี้ด้วยแล้ว ไม่อยู่ในห้วงคำนึงของเธอแม้แต่น้อย

    อันที่จริงแม้จะไม่นึกถึงใครเลย แค่นึกถึงประโยชน์ที่จะเกิดกับตัวเองอย่างเดียว ก็มีเหตุผลมากมายที่ไม่สมควรตัดต้นไม้ต้นนี้ เพราะร่มเงาของเขาช่วยทำให้บ้านร่มเย็นและบรรยากาศในสวนร่มรื่น เสียงร้องของนกนานาชนิดที่มาเกาะต้นไม้ก็ไพเราะเสนาะโสต ตื่นเช้าขึ้นมามีอะไรที่จะจรรโลงใจให้ชื่นบานเท่ากับชีวิตชีวาจากธรรมชาติ

    มองแค่ประโยชน์ส่วนตัว ต้นไม้ก็มีคุณค่ามากมาย แต่ทุกวันนี้แม้แต่ประโยชน์ส่วนตัว เราก็มองอย่างคับแคบ ต้นไม้จึงมีความหมายเพียงแค่สิ่งที่ให้ดอก ผล หรือเนื้อไม้เท่านั้น แต่ถ้าเรามองประโยชน์ส่วนตัวให้กว้างกว่านี้ เราย่อมอดไม่ได้ที่จะทนุถนอมต้นไม้และธรรมชาติทั้งปวง เพราะสิ่งที่เราจะได้จากเขานั้นมีมากมายหลายมิติ

    สุพิศไปเป็นอาสาสมัครช่วยปลูกป่าที่วัดแห่งหนึ่ง วันรุ่งขึ้นก่อนจะกลับเธอปลีกตัวไปนั่งอยู่ราวป่า เพ่งพินิจต้นไม้ด้วยใจสงบ แล้วเธอก็ได้ยินต้นไม้บอกเธอว่า “อย่าท้อแท้ ฉันอยู่นี่ เมื่อใดที่เธอรู้สึกอ่อนแอ ขอให้ระลึกว่าฉันยังเป็นเพื่อนเธออยู่ที่นี่ ขอให้เข้มแข็ง อย่าสิ้นหวัง” สุพิศรู้สึกมีกำลังใจขึ้นมาทันที ความทดท้อที่เธอแบกมาจากกรุงเทพ ฯ มลายหายไป อีกครั้งหนึ่งที่เธอยิ้มได้ด้วยใจสดใส

    น่าแปลกที่ความรู้สึกดังกล่าวคล้ายกับประสบการณ์ของหญิงผู้หนึ่งซึ่งถูกทรมานอยู่ในค่ายนรกของนาซีในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เธอเล่าว่าสิ่งเดียวที่ให้ความหวังและกำลังใจแก่เธอก็คือ ต้นไม้ต้นหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้หน้าต่างคุก เธอชอบคุยกับต้นไม้ต้นนั้น และต้นไม้ก็บอกเธอว่า “ฉันอยู่นี่ ฉันอยู่นี่ ฉันคือชีวิตนิรันดร์”

    ต้นไม้นั้นสามารถให้พลังบันดาลใจแก่เราโดยเฉพาะในยามทุกข์ เมื่อผู้นำนักศึกษากรณี ๖ ตุลาถูกจับเข้าคุกด้วยข้อหาที่ร้ายแรง นอกเหนือจากการเตรียมสู้คดีแล้ว สิ่งหนึ่งที่พวกเขาทำก็คือปลูกต้นไม้ ต้นกล้าที่แทงยอดและผลิใบอ่อน แม้ดูบอบบาง แต่ให้กำลังใจพวกเขาได้เป็นอย่างดี ต้นไม้ยิ่งเติบโต จิตใจของเขาก็ยิ่งเข้มแข็งตามไปด้วย

    อันที่จริงแล้ว นอกเหนือจากกำลังใจแล้ว ต้นไม้ตลอดจนธรรมชาติทั้งปวงยังสามารถให้อะไรแก่จิตใจของเราได้มากมาย ขอเพียงแต่เราเปิดใจรับฟังกระแสเสียงจากเขาเท่านั้น ท่านอาจารย์พุทธทาสมักแนะนำให้ผู้ไปเยือนสวนโมกข์ หัดฟังเสียงต้นไม้พูดและฟังก้อนหินสอนธรรมบ้าง เมื่อมีคนสงสัยว่าหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตรู้ธรรมได้อย่างไรในเมื่อไม่ได้เรียนหนังสือ หลวงปู่มั่นตอบว่า “ธรรมะมีอยู่ทุกหย่อมหญ้าสำหรับผู้มีปัญญา”

    ปัญญาในที่นี้ไม่ได้หมายถึงวุฒิการศึกษาหรือปริญญา แต่หมายถึงการรู้จักพินิจพิจารณา เมื่อมองให้เป็น นกกระเต็นกลางสระก็สอนเราให้รู้จักคอยและใฝ่สันโดษได้ เพราะเขาสามารถเกาะนิ่งบนก้านบัวได้เป็นชั่วโมงกลางแดดกล้า โดยไม่อนาทรร้อนใจแต่อย่างใด และไม่ว่าจะได้ปลาตัวเล็กหรือใหญ่ เขาก็พอใจทั้งนั้น เมื่อถึงเวลาเขาก็บินอพยพไปที่อื่น โดยไม่มีทรัพย์สมบัติอะไรนอกจากปีกสองข้างเท่านั้น
    แม้แต่ใบไม้ร่วงเพียงใบเดียว หากพินิจด้วยใจสงบ ก็สามารถเข้าถึงสัจธรรม จนปล่อยวางความทุกข์ได้ ปัญหาก็คือทุกวันนี้เราวุ่นกับสารพัดเรื่อง จนไม่มีเวลาอยู่กับตัวเองเงียบ ๆ เราคิดไม่หยุด จนจิตไม่ว่างพอที่จะได้ยินกระแสเสียงจากธรรมชาติ
    แต่ไม่ต้องรอให้ชีวิตหายวุ่นหรือจิตว่างเต็มที่ เพียงแค่มีเวลาให้ตนเองได้อยู่กับธรรมชาติอย่างเงียบ ๆ และผ่อนคลาย แล้วเราจะพบว่าแม้ต้นไม้ที่ไร้ดอกก็สามารถมอบสิ่งดี ๆ ให้แก่จิตใจของเราได้มากมาย
    :- https://visalo.org/article/kidFamily254808.htm



     
  13. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,518
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,089
    บ้าน
    พระไพศาล วิสาโล

    บทความนี้ตีพิมพ์เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๒๙
    ในจดหมายข่าว “ภูโค้ง” ซึ่งเป็นเอกสารโรเนียว เผยแพร่ในหมู่มิตรสหายกลุ่มเล็ก ๆที่มาเยือนวัดป่าสุคะโต แม้เวลาจะผ่านมากว่า ๒๐ ปีแล้ว แต่เชื่อว่าเป็น “บันทึกข้างบาตร” ที่น่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านในปัจจุบัน จึงนำมาตีพิมพ์ในที่นี้อีกครั้งหนึ่ง


    เมื่อยังเป็นเด็กเล็ก ๆ อยู่ เรามีโลกส่วนตัวอยู่ที่โรงเรียนและที่บ้าน ชีวิตส่วนใหญ่ก็ขลุกอยู่ที่สองแห่งกับบริเวณข้างเคียงเท่านั้น ไปไหนไกล ๆ ก็มีบ้าง แต่ไม่นานและไม่บ่อยนัก โลกที่โรงเรียนนั้น ในความรู้สึก ดูจะทึม ๆ อยู่สักหน่อย ไม่ใช่เพราะเป็นโรงเรียนเก่าอายุเกือบร้อยปี ซึ่งตัวตึกบ่งบอกถึงความโบราณและแฝงตำนานเก่า ๆ เอาไว้เท่านั้น หากความเข้มงวดกวดขันของครูยังทำให้ชีวิตที่นั่นดูแห้ง ๆ และขึงขัง ไม่น่าอภิรมย์เท่าไรนัก ทั้ง ๆ ที่เราก็เป็นเด็กขยันและไม่ค่อยเกเร แคล้วคลาดจากไม้เรียวอยู่บ่อย ๆ แถมครูบาอาจารย์ก็เอ็นดู แต่ก็ยังรู้สึกเกร็งอยู่เสมอเวลาอยู่ที่โรงเรียน มารู้สึกคลายและสัมผัสความอิสระสดชื่นอย่างเต็มที่ ก็ตอนริอ่านโดดเรียนไปทำกิจกรรมนอกหลักสูตรตอนอยู่ม.ศ.๓ ในขณะที่คนอื่น ๆ เขาจำต้องทนเรียนอยู่ในห้อง เรากลับเดินเล่นสบายใจเฉิบนอกห้องเรียน ได้คิดได้ทำในสิ่งที่เป็นของเราจริง ๆ โดยไม่มีใครมาบังคับหรือจ้องมอง รู้สึกเป็นสุขเสียจริง โลกที่โรงเรียนจึงสดใส มีสีสันนับแต่นั้น มาฝ่ออีกทีก็ตอนเข้ามหาวิทยาลัยปีแรก

    ส่วนโลกที่บ้านตอนเล็ก ๆ นั้น มาหวนนึกในบัดนี้ ก็ไม่รู้สึกว่ามีอะไรพิเศษนัก ชีวิตเด็กกรุงในครอบครัวชนชั้นกลางส่วนใหญ่ก็คงจะเป็นแบบนี้กระมัง เพราะตั้งแต่จำความได้ คลองที่จะให้กระโดดเล่นดำผุดดำว่ายก็เหลือน้อยเต็มทีแล้ว สวนที่เด็ก ๆ จะแอบเด็ดผลไม้มากินตอนปิดเรียนก็หายไปจากใจกลางเมืองแล้ว ต้นไม้ที่จะให้เด็กปีนเล่น และลานกว้างที่พวกเราจะวิ่งและกลิ้งกันอย่างสนุกสนานก็ถูกแทนที่ด้วยตึกรามบ้านช่อง สภาพแบบนี้จะมีอะไรให้สนุก กลับบ้านก็ต้องทำการบ้านหูดับตับไหม้ บางทีพ่อก็คุมอยู่ใกล้ ๆ ถ้าแอบไปเที่ยวไหน แม่รู้ก็อาจโดนไม้เรียวได้ ดีหน่อยที่โทรทัศน์ยังไม่ค่อยแพร่หลาย (แต่ตอนนั้นยังไม่รู้สึกดีเลย) ตอนกลางคืนก็เลยได้พูดคุยหยอกเล่นกันที่บ้าน อาจจะตื่นเต้นหวาดเสียวหน่อยเวลาฟังเรื่องผี ๆ จากวิทยุ บางช่วงก็อาจได้ไปเที่ยวนอกบ้านมากหน่อย เช่นที่ภูเขาทองเวลามีงานวัดเจ็ดวันเจ็ดคืนช่วงลอยกระทง แต่เมื่อดูรวม ๆ แล้วชีวิตวัยเด็กที่บ้านไม่มีอะไรโดดเด่นนัก แต่การระลึกย้อนหลังในเวลานี้ก็ชวนให้รู้สึกประทับใจด้วยอาลัยอยู่สักหน่อย กระนั้นตั้งแต่โตเป็นผู้ใหญ่มา ก็ไม่เคยนึกที่จะกลับไปเป็นเด็กอีกเลย มีบ้างอาจนึกถึงช่วงวัยรุ่นที่ชีวิตมีสีสันอย่างลูกกวาด แต่เอาเข้าจริง ๆ ก็ไม่คิดจะกลับไปเป็นเหมือนก่อน แม้จะมีอุโมงค์เวลาแบบที่เคยดูในโทรทัศน์

    ถึงอย่างไรก็ตาม ตอนเด็กนั้นบ้านก็ยังเป็นบ้านของเราอยู่นั่นเอง ถึงจะไม่มีความรู้สึกอบอุ่นมั่นคงเป็นพิเศษเหมือนหมาน้อยในลังกระดาษ แต่บ้านก็มีความหมายต่อชีวิตของเราเพราะโลกหนึ่งในสองของเราอยู่ที่นั่น ความที่เราไม่เคยออกจากบ้านนาน ๆ ตอนเด็ก ๆ ก็เลยไม่รู้ว่าบ้านของเราเวลานั้นอบอุ่นขนาดไหน นี่ก็คงเหมือนกับคนที่หายใจอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เลยไม่ซาบซึ้งถึงคุณค่าของอากาศ

    เรามาออกนอกบ้านบ่อย ๆ ก็ตอนโตแล้ว วัยรุ่นอย่างนั้นก็มีแต่จะชอบท่องเที่ยว ถึงตอนนั้นก็ไม่ได้รู้สึกผูกพันอะไรกับบ้านเป็นพิเศษอีกแล้ว บ้านก็เป็นแต่ที่ซุกหัวนอน เก็บหนังสือ หรือผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้า แต่แม้จะมีสัญชาตญาณพเนจรซึ่งก็ไม่รู้ว่าติดมาจากไหน (หรือจะติดมาแต่สมัยโน้นครั้งยังเป็นอมีบา โปรโตซัว หรือกระทิงเปลี่ยวแห่งอาฟริกา ก็ไม่รู้) เวลากลับบ้านหลังจากไปนานก็ให้ดีใจเสียนี่กระไร แต่ใจหนึ่งก็เกิดความกลัวว่าทางบ้านจะซักไซ้ไล่เลียง จนรู้ความจริงว่าเราไปทำกิจกรรมวุ่นวายที่ไหนบ้าง ตอนนั้นโลกของเราไม่ได้อยู่ที่บ้านหรือที่โรงเรียนอีกแล้ว แต่กลายเป็นโลกแห่งกิจกรรม ที่มีเพื่อนฝูงเป็นตัวผลักดันสำคัญให้โลกเคลื่อนไหวไปตามสิ่งแวดล้อม

    พออายุได้ยี่สิบปี ที่บ้านก็มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพราะต้องย้ายไปอยู่ชานเมือง การจากบ้านที่เคยอยู่ตั้งแต่ทารกมาจนโต ให้ความรู้สึกไม่ดีเลย บ้านนั้นไม่ใช่ตัวตึกอย่างเดียว หากยังเป็นสิ่งที่เก็บความทรงจำของเราเกือบชั่วชีวิตไว้อีกด้วย เห็นบันไดก็ชวนให้ระลึกนึกถึงตอนเด็กที่เคยไถรูดราวลงมาทั้งตัว จนแม่ต้องว่ากล่าวบ่อย ๆ ฝาผนังข้างที่นอนก็เตือนให้เรานึกถึงตอนยังซุกซน เอาดินสอขูดขีดไม่เป็นภาพ (แต่ตอนนั้นเห็นเป็นภาพ) ต่อแต่นี้ไป ยกเว้นความทรงจำในใจแล้ว จะมีอะไรเล่าที่จะเก็บภาพและบรรยากาศแห่งวัยเด็กได้ดีไปกว่านั้น แม้แต่รูปถ่ายก็ทำหน้าที่นี้ไม่ได้ สามปีก่อนได้มีโอกาสกลับไปยังถิ่นเก่า ซึ่งไม่เหลือบ้านหลังนั้นไว้ให้เห็นแล้ว แต่ก็อดดีใจไม่ได้ที่ต้นไม้สองข้างทางเติบใหญ่ร่มครึ้ม ถ้าเป็นเด็กก็คงได้สนุกกันละ

    นับแต่บ้านหลังนั้น เราก็ย้ายบ้านอีกสองครั้ง “บ้าน”ปัจจุบันไม่มีอะไรที่ผูกพันกับภูมิหลังและความทรงจำสำคัญของเราเท่าไรนัก (จะมีความหมายอย่างยิ่งก็ตรงที่พ่อแม่พี่น้องของเรายังอยู่กันเกือบครบถ้วน) แต่การที่เราได้มาอยู่อาศัย ได้รับความสุขจากบ้านหลังนั้นพอสมควร แม้จะไม่นานนัก ก็ทำให้เรารู้สึกเป็นหนี้บุญคุณบ้านอยู่ ไม่มีความเจ็บช้ำระกำใจอะไรกับบ้านหลังนั้นเลย กลับไปทีไรก็ยังพอใจ แต่ถ้าถามเราว่านั่นเป็น “บ้าน”ของเราไหม บ้านที่เป็นโลกส่วนหนึ่งของเรา ผูกพันกับชีวิต จิตใจ ความทรงจำ และความเป็นตัวเรา เราก็คงลังเลใจที่จะตอบว่าใช่ แต่อนาคต อาจไม่แน่
    บ้านที่แท้จริงสำหรับปุถุชนอย่างเรา มิใช่เพียงที่พักอาศัย หลบฝนกันหนาวได้เท่านั้น หากบ้านยังเป็นที่ ๆ เรารู้สึกวางใจ มอบชีวิตให้อยู่ในเพิงพักของมันอย่างสบายใจ เป็นที่ ๆ แน่ใจว่าไม่มีภัยร้ายแรงมากล้ำกราย เกิดความผูกพันและรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณอย่างลึกซึ้ง เมื่อได้มาอยู่ เราจะรู้สึกผ่อนคลาย มีชีวิตชีวา และมั่นใจบางอย่าง รวมทั้งมั่นใจในตนเอง
     
  14. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,518
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,089
    (ต่อ)
    เกือบสามปีที่เราได้มาอยู่บ้านแห่งใหม่ในป่าเขา ความรู้สึกในเวลานี้บอกเราว่า นี่เป็นบ้านในความหมายที่เราพูดถึง เวลาสามปีแม้จะไม่นานนัก แต่บ้านหลังนี้ก็ได้เก็บความทรงจำในช่วงสำคัญช่วงหนึ่งของชีวิตเราไว้ ซึ่งได้กลายเป็นภาพประทับที่คงยากจะลืมเลือนไปจากใจเราได้ สิ่งหนึ่งซึ่งแตกต่างจากบ้านหลังอื่น ๆ ในชีวิตที่ผ่านมาของเราก็คือ นี่เป็นที่ซึ่งเราได้ปลุกปล้ำขับเคี่ยวกับมัน จนแทบจะเลิกราไปก็หลายครั้ง เมื่อแรกมาที่นี่ เกิดความรู้สึกตื่นตัวเตรียมพร้อมที่จะเผชิญกับสิ่งไม่คาดฝันและน่าหวั่นเกรง เป็นความรู้สึกที่ไม่วางใจ แต่ระแวงระวังอยู่เสมอ ไม่เคยมีบ้านไหนที่ทำให้เรารู้สึกแบบนี้เมื่อแรกมาอยู่ และเราก็ไม่คิดว่านี่จะเป็นบ้านที่เราจะมาอยู่เป็นปี ๆ เหมือนทุกวันนี้ เรามาที่นี่อย่างผู้เตรียมใจพร้อมจะต่อสู้เพื่อเอาชนะมันและเอาชนะตัวเอง แต่เมื่อได้อยู่ที่นี่นานเข้า ล้มคว่ำขมำหงายบ้าง อยู่เหนือมันบ้าง ก็เริ่มรู้สึกเป็นมิตรมากขึ้น คงจะเหมือนกับการขับเคี่ยวกับม้าพยศ เมื่อปลุกปล้ำกับมันนานเข้า ในที่สุด ประเด็นสำคัญมิได้อยู่ที่ว่าเราปราบมันได้หรือไม่ หากอยู่ที่เราทั้งสองฝ่ายรู้สึกเป็นมิตรกันและวางใจในกันมากขึ้น เดี๋ยวนี้ความมืดที่เคยหวาดผวากลายเป็นความสงบที่พร่างพราวด้วยแสงดาว ความวังเวงที่น่าสะพรึงกลัวกลายเป็นความวิเวกรำงับ เสียงร้องของสัตว์ป่าและเสียงกระทบของกิ่งไม้ที่เคยกระทบโสตประสาทจนสะดุ้งกลายเป็นเสียงที่มีชีวิตชีวายิ่งของธรรมชาติ งูและส่ำสัตว์ร้ายกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่นี่ (แต่ถ้าต่างฝ่ายต่างอยู่ได้เป็นดีที่สุด) เช่นเดียวกับที่ตุ๊กแก ตลอดจนหนูและงูจรบางตัวซึ่งกระหายตุ๊กแก ก็เป็นส่วนหนึ่งของห้องพักที่นี่ ชีวิตที่นี่มิใช่มีแต่สุข แต่ความทุกข์ ความท้อแท้ และความเหงาที่มาเยือนเป็นครั้งคราว ก็ทำให้ชีวิตในบ้านแห่งนี้มีรสชาติ และเมื่อใดที่เราสามารถเอาชนะอยู่เหนือมันได้ เราจะรู้สึกถึงความภูมิใจบางอย่าง เป็นความภูมิใจซึ่งบ้านแห่งนี้มีส่วนด้วย

    เหนือสิ่งอื่นใด ณ บ้านแห่งนี้ เรามีมิตรซึ่งเอื้อเฟื้อด้วยสติปัญญา น้ำใจอันหาได้ยากในโลกกว้างทุกวันนี้ กัลยาณมิตรและสรรพชีวิตในป่าเขาทำให้บ้านแห่งนี้มีความหมายเท่าที่บ้านและชุมชนหนึ่ง ๆ จะพึงมี เราคงพูดไม่ผิดกระมังหากจะบอกว่า สำหรับเราทั้งหลาย ที่นี่คือชุมชน และสำหรับเราแต่ละคน ที่นี่คือบ้าน นี้กระมังที่ทำให้เรารู้สึกถึงพลังบางอย่าง หากกลับจากการเดินทาง ชีวิตที่เหนื่อยอ่อนจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว จิตที่กระจัดกระจายจะรวมลงเป็นหนึ่งในเวลาไม่นาน การกลับมาแต่ละครั้งเหมือนกับการมาพบเพื่อนเก่าที่เราคุ้นเคย วางใจ และใกล้ชิด แม้ที่นี่จะมีอันตราย แต่ก็เป็นอันตรายที่เรายอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตปุถุชน เช่นเดียวกับที่ธรรมชาติป่าเขายอมรับเราเป็นส่วนหนึ่งของที่นี่ ไฟป่าแต่ละคราวอาจทำให้เราประหวั่น ระย่อท้อ ขัดเคืองและเจ็บปวดระคนกัน แต่การได้มาเผชิญกับมัน กลับทำให้เรารู้สึกผูกพันกับป่าเขาที่นี่เรื่อย ๆ เป็นความสัมพันธ์ที่กระชับแน่นทุกขณะแห่งการร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน ธรรมชาติที่นี่ไม่ได้ปกป้องเราหรือให้ที่อยู่ อาหารและยาแก่เราแต่ฝ่ายเดียวเท่านั้น เราเองก็ช่วยปกป้องธรรมชาติ คอยดับไฟป่า และระวังภัยให้สัตว์ป่าที่พรานหมายปองด้วยเช่นกัน ความสัมพันธ์ทางใจทำให้เราเชื่อมั่นว่า ธรรมชาติที่นี่ปลอดภัย จนเราวางใจได้ ความรู้สึกอย่างนี้เท่านั้นที่เราสามารถหาได้จากบ้านของเรา

    แต่ในโลกนี้มีอะไรบ้างที่เป็นของเราจริง ๆ ชีวิตของเราไม่นานก็จะหาไม่ ไหนเลยบ้านแห่งนี้จะยั่งยืนอยู่ได้ ชีวิตคือการพลัดพราก ใครจะรู้ สักวันหนึ่งบ้านแห่งนี้อาจถูกทำลายจนพินาศ มิตรที่เป็นส่วนสำคัญของบ้านและชีวิตที่นี่อาจต้องจากไป แม้ตัวเราเองก็อาจเป็นฝ่ายจากไปก่อนใครด้วยซ้ำ บ้านนั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเติบโตของเราก็จริงอยู่ แต่ถึงที่สุดแล้ว เราจะต้องเติบโตให้พ้นจากอาณาเขตของบ้านออกไป จนเป็นอิสระเหนือบ้านใด ๆ หากบ้านจะยังอยู่ บ้านนั้นต้องอยู่ในใจของเรา จึงจะเป็นที่พักพิงของเราอย่างแท้จริง พูดอย่างพุทธก็ต้องว่า เอาสติปัญญาและความอิสระโปร่งเบาเป็นวิหารธรรมของเรา เมื่อเป็นเช่นนั้น ชีวิตจะไม่มีการพลัดพรากจากบ้าน ไม่มีความทุกข์ เหงา และเดียวดาย และบ้านจะอยู่กับเราตลอดไป ในที่ทุกสถานและในกาลทุกโอกาส แม้ว่ามิตรสหายและผู้ที่รักและเคารพของเราจะอำลาจากไป

    ดูเหมือนจะเป็นท่านนัท ฮันห์กระมัง ได้เขียนข้อความที่กินใจเราเกือบสิบปี แม้บัดนี้ก็ยังไม่ลืมบางประโยคที่ทำให้เรารู้สึกถึงความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการที่จะทำตนให้เป็นบ้านของตนอย่างแท้จริง เป็นที่ที่อบอุ่น ปลอดภัย และวางใจได้ ท่านเขียนด้วยภาษางดงาม ไพเราะ พอจะถอดเป็นไทยได้อย่างกระท่อนกระแท่นว่า

    บ้านอันนิรันดร์นั้น มิได้อยู่ที่ใด
    หากอยู่ทุกหนแห่ง
    และหนทางสู่บ้านนั้นก็ไม่มีทั้งจุดเริ่มต้นหรือจุดสิ้นสุด
    ด้วยหัวใจที่จรัสเรืองด้วยความรัก
    และจิตใจที่แจ่มกระจ่างด้วยความเข้าใจ
    หนทางนั้นย่อมปรากฏได้โดยการกระทำอย่างต่อเนื่อง
    การกระทำที่สันติและงดงาม
    ยามเคลื่อนไหว หนทางนั้นตรึงกับที่
    ยามสงบนิ่ง หนทางพลันทอดข้ามโลก
    ดุจดังหน่อพันธุ์ซึ่งงอกงามและผลิบานทุกขณะแห่งปัจจุบัน
    หนทางทั้งหมดนั้นอยู่ที่นี่และเดี๋ยวนี้
    ๑๘ พ.ค. ๒๕๒๙
    :- https://visalo.org/article/paja255010.htm

     
  15. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,518
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,089
    รักษาใจ คลายความปวด
    พระไพศาล วิสาโล
    ความเจ็บปวดนั้นเป็นปัญหาที่คนทั้งโลกต้องประสบ ไม่ว่าเราจะมีความเจริญก้าวหน้าในทางวิทยาการแค่ไหน เราก็ไม่สามารถหลีกพ้นจากความเจ็บปวดไปได้ และในปัจจุบันความเจ็บปวดก็เป็นปัญหาสำคัญมาก เรียกว่าเป็นพรมแดนที่การแพทย์ในปัจจุบันยังไม่สามารถที่จะเข้าใจอย่างทั่วถึง อีกทั้งยังจัดการได้ยากเช่นเดียวกับความเครียด สาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้มันเป็นเรื่องท้าทายก็เพราะว่ามันสัมพันธ์กับระบบซึ่งถือว่าซับซ้อนที่สุดในร่างกายของมนุษย์หรือในโลกก็ว่าได้ นั่นคือสมองและระบบประสาท

    ทุกท่านคงทราบดีอยู่แล้วว่าสมองเป็นพรมแดนที่ทุกวันนี้เรายังมีความรู้น้อยมาก เนื่องจากเป็นสิ่งที่ซับซ้อนทางโครงสร้างอย่างยิ่ง ไม่เพียงเท่านั้น สมองยังเป็นอวัยวะที่สัมพันธ์กับสิ่งที่เรารู้จักน้อยมากคือจิตใจ ซึ่งทุกวันนี้ผู้รู้ยังถกเถียงกันอยู่ว่าจิตใจอยู่ที่ไหนแน่ สัมพันธ์กับสมองอย่างไร หรือเป็นคนละส่วนกัน

    ความเจ็บปวดคือประเด็นที่เป็นจุดบรรจบกันระหว่างสองสิ่งที่เป็นเรื่องยาก คือสมองและจิตใจ เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายวงการแพทย์และวงการวิทยาศาสตร์อย่างยิ่ง ขณะเดียวกันอาตมาคิดว่าในเรื่องนี้แนวคิดและประสบการณ์ทางด้านศาสนามีหลายสิ่งหลายอย่างที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่านที่อยู่ในวงการแพทย์และวงการวิทยาศาสตร์ด้วย

    ความเจ็บปวดก็เช่นเดียวกับความเจ็บป่วยในร่างกายของเรา คือมันไม่ใช่เป็นเรื่องทางกายภาพล้วน ๆ ความเจ็บป่วยทุกอย่างจะมีมิติทางจิตใจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอไม่มากก็น้อย เมื่อคนหนึ่งเจ็บป่วยหรือเจ็บปวด ไม่ใช่กายของเขาเท่านั้นที่ป่วยหรือปวด แต่ว่าจิตใจของเขาก็พลอยป่วยหรือปวดตามไปด้วย อันนี้เป็นธรรมดาของคนส่วนใหญ่ในปัจจุบันก็ว่าได้ เพราะฉะนั้นในการทำความเข้าใจความเจ็บป่วย ถ้าเราจำกัดความสนใจของเราอยู่ที่ร่างกายเพียงอย่างเดียว ย่อมไม่อาจเข้าใจความจริงอย่างครบถ้วน อาจทำให้การจัดการความเจ็บป่วยนั้นไม่สมบูรณ์ ดังนั้นจึงจำเป็นที่เราจะต้องทำความเข้าใจมิติความสัมพันธ์ทางจิตใจกับความเจ็บป่วยด้วย

    อาจารย์ประเวศ วะสี ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโลหิตวิทยา เคยเล่าถึงประสบการณ์ของท่านตอนหนึ่งเมื่อครั้งทำงานที่โรงพยาบาลศิริราชว่า วันหนึ่งมีคนไข้ชายวัยกลางคน ตัวซีด ไม่มีเรี่ยวแรง จนต้องนอนเปลมาให้ท่านรักษา อาจารย์ประเวศซักถามอาการคนไข้สักพัก ก็หันไปพูดกับแพทย์ประจำบ้าน ว่า คนไข้คนนี้ไม่เป็นอะไรมาก ตัวซีดเพราะมีพยาธิปากขอทำให้เลือดจาง ได้กินเหล็กจะดีวันดีคืน พูดเสร็จท่านก็หันไปหาคนไข้ ปรากฏว่าคนไข้ลุกขึ้นจากเปลเลย แล้วบอกหมอว่า “ถ้ามันหายง่ายอย่างนี้ ผมก็ไม่ต้องใช้ไอ้เปลนี้แล้วล่ะ” ว่าแล้วก็เข็นเปลออกไปติดฝา

    ทำไมคนไข้ถึงมีเรี่ยวแรงทั้งๆ ที่ยังไม่ทันได้กินยาเลย ที่จริงต้องถามใหม่ว่า ในเมื่อเป็นแค่พยาธิปากขอ แต่ทำไมตอนแรกเขาถึงไม่มีเรี่ยวแรง จนต้องนอนเปลมา คำตอบก็คือ เป็นเพราะความวิตกกังวลและความกลัว เขาอาจคิดว่าเขากำลังเป็นมะเร็งหรือเป็นโรคร้ายถึงตาย พอคิดอย่างนี้ ก็เลยไม่มีแรงจนต้องนอนเปลมาให้หมอรักษา แต่พอหมอวินิจฉัยว่าไม่ได้เป็นอะไร เป็นแค่พยาธิปากขอเท่านั้นเอง ความวิตกกังวลก็หายไป เรี่ยวแรงกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

    เพียงแค่ความวิตกกังวลหรือความทุกข์ใจก็สามารถทำให้ร่างกายทรุดหนักยิ่งกว่าโรคภัยไข้เจ็บหรือความเจ็บป่วยทางกายด้วยซ้ำ คนที่เป็นทุกข์เมื่อเจ็บป่วย อาตมาคิดว่าประมาณ ๑ ใน ๓ ของความทุกข์เกิดจากความเจ็บป่วยทางกาย ที่เหลือเป็นเพราะความทุกข์ใจ (อันนี้เป็นประมาณการของอาตมาเอง ไม่ใช่ข้อสรุปทางวิชาการ) ที่ยโสธร มีคุณป้าคนหนึ่งเทียวเข้าเทียวออกโรงพยาบาลหลายครั้ง โดยไม่ทราบว่าเป็นโรคอะไร แล้ววันหนึ่งหมอก็บอกคนไข้ว่า “ป้าเป็นมะเร็งนะ อยู่ได้ไม่เกิน ๓ เดือน” แกตกใจ ทำใจไม่ได้ ปรากฏว่าอยู่ได้แค่ ๑๒ วันก็ตาย คำถามคือที่แกตายเร็วกว่าที่หมอคาดการณ์เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะก้อนมะเร็งหรือเปล่า หรือเป็นเพราะจิตใจที่วิตกกังวลหดหู่หมดหวัง ก้อนมะเร็งไม่ทันปลิดชีวิตแกเลย แต่ว่าใจที่ท้อแท้หดหู่หรือหวาดวิตกก็ทำให้แกตายเร็วทั้ง ๆ ยังสามารถอยู่ได้นานกว่านั้นมาก

    มองในแง่นี้ก็เห็นได้ว่าความเจ็บป่วยทางจิตเกิดขึ้นควบคู่กับความเจ็บป่วยทางกาย และบางครั้งมันเป็นตัวการที่ทำให้ความเจ็บป่วยหรืออาการทางกายรุนแรงขึ้น แทนที่จะอยู่ได้ ๓ เดือนหรือเกินกว่านั้น เพราะบางคนอยู่ได้เกินกว่าที่หมอวินิจฉัย แต่ว่าในกรณีนี้กลับอยู่ได้แค่ ๑๒ วัน นี่เป็นอิทธิพลของจิตใจซึ่งทำให้ความเจ็บป่วยทางกายเพิ่มขึ้น อาจจะคูณสองคูณสามเลยก็ได้ มีการวิจัยพบว่า คนที่กลัวเข็มฉีดยา เวลาถูกเข็มแทง ความเจ็บจะเพิ่มขึ้นเป็น ๓ เท่าของคนที่ไม่กลัว เรียกว่าคูณสามเลย ความเจ็บ ๑ ส่วนเกิดเพราะเข็ม อีก ๒ ส่วนเกิดจากความกลัว

    ความทุกข์ใจไม่เพียงทำให้ความเจ็บป่วยทางกายรุนแรงขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้คนที่ไม่ป่วยกลับกลายเป็นคนป่วย มีคนจำนวนไม่น้อยที่ป่วยโดยที่ไม่มีความผิดปกติทางกายเลย แต่เป็นเพราะมีปัญหาทางจิตใจ มีผู้หญิงคนหนึ่งยังสาวอยู่ แต่เป็นโรคปวดหัวปวดท้องเรื้อรัง ความดันโลหิตสูง เป็นมาหลายปีแล้วไปหาหมอครั้งแล้วครั้งเล่าอาการก็ไม่ดีขึ้น หมอก็แปลกใจ เพราะว่าตรวจเช็คทุกอย่างแล้วไม่มีความผิดปกติทางกายเลย หมอก็เกือบจะถอดใจแล้ว แต่แล้ววันหนึ่งก็ฉุกคิดขึ้นมา จึงขอให้คนไข้เล่าประวัติให้ฟัง เธอเล่าว่าเป็นเด็กกำพร้า พ่อแม่เสียตั้งแต่เล็ก อยู่กับพี่สาวสองคน พอคนไข้เล่าถึงพี่สาว แกก็มีอารมณ์เกิดขึ้น หมอเห็นได้ชัดเลยว่า เธอโกรธพี่สาวสองคนที่ทอดทิ้ง ปล่อยให้เธอเผชิญปัญหาตามลำพัง ทั้งน้อยใจทั้งโกรธเพราะมีความคาดหวังกับพี่สาว แต่พี่สาวไม่สนใจใยดีเลย หมอเชื่อว่านี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เธอมีอาการอย่างนี้ จึงแนะนำให้เธออภัยพี่สาวทั้งสองคน แต่คนไข้ไม่เชื่อ หลังจากนั้นก็หายไปเลย หนึ่งปีต่อมาหมอได้รับจดหมายจากคนไข้คนนี้ เธอเขียนมาบอกว่าตอนนี้หายดีแล้ว เพราะได้ทำตามที่หมอแนะนำคือให้อภัยพี่สาว

    เรื่องนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ความโกรธความเกลียด ความน้อยเนื้อต่ำใจก็ทำให้เกิดความเจ็บปวดได้ทั้งที่ไม่มีความผิดปกติทางกายเลย เป็นเพราะสาเหตุทางใจล้วนๆ เพราะฉะนั้นความเจ็บปวดจึงไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องทางกายอย่างเดียว แต่มักมีสาเหตุทางใจประกอบด้วย และบางทีก็เป็นส่วนสำคัญหรือเป็นสาเหตุหลักด้วยซ้ำ เฮอร์เบิร์ต เฮนสัน แห่งคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด หลังจากที่ศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างจิตใจกับความเจ็บป่วยมานานมาก ได้สรุปว่าความเจ็บป่วยของผู้ที่ไปหาหมอร้อยละ ๖๐-๙๐ เป็นเรื่องกายจิตสัมพันธ์ (psychosomatic) และเกี่ยวข้องกับความเครียด
    มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ความเจ็บป่วยและความเจ็บปวดเรื้อรังเพิ่มมากขึ้น ประการแรกคือความโกรธอย่างที่อาตมาได้พูดแล้ว ประการที่สองคือความกลัว ซึ่งมักจะเกิดขึ้นจากการปรุงแต่งไปในทางร้าย อย่างเช่นคนไข้ที่หมอบอกว่าอยู่ได้ ๓ เดือน แต่อยู่ได้เพียง ๑๒ วันเท่านั้นก็ตาย ที่ตายเร็วนั้นเป็นเพราะถูกความกลัวรุมเร้า ซึ่งเกิดจากการปรุงแต่งล่วงหน้าว่าใครจะดูแลฉัน ถ้าใกล้ตายฉันจะเจ็บปวดแค่ไหน จะต้องทุกข์ทรมานอย่างโน้นอย่างนี้ สร้างภาพหรือตีตนไปก่อนไข้ ก็ทำให้ความเจ็บป่วยและความเจ็บปวดเพิ่มพูนขึ้น
     
  16. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,518
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,089
    (ต่อ)
    คุณหมออมรา มะลิลาเล่าถึงการทดลองแห่งหนึ่งที่น่าสนใจมาก เขาเชิญชวนนักโทษมาเป็นอาสาสมัคร ใครมาร่วมหรือผ่านการทดลองนี้จะลดหย่อนผ่อนโทษให้ การทดลองนี้แบ่งอาสาสมัครออกเป็น ๒ กลุ่ม บอกกลุ่มแรกว่า จะทดลองใช้น้ำกรดมาหยดตรงกลางหลังเพื่อศึกษาถึงความสามารถในการทนต่อความเจ็บปวดของอาสาสมัคร โดยน้ำกรดนี้จะละลายเนื้อบริเวณนั้นให้เป็นวุ้น และสามารถซึมเข้าไปละลายกระดูกได้ด้วย ส่วนกลุ่มที่สอง ผู้ทดลองบอกว่าน้ำที่หยดกลางหลังนั้นเป็นน้ำกลั่น ทั้งนี้เพื่อทดสอบว่าผิวหนังจะมีปฏิกิริยาแบบภูมิแพ้อย่างไร

    มีการจัดให้อาสาสมัครนอนโดยมีม่านกั้นแต่ละคน แล้วเขาก็ส่งน้ำมาตามท่อเพื่อให้หยดตรงกลางหลัง ที่จริงไม่ใช่น้ำกรดแต่เป็นน้ำกลั่นที่มาจากถังเดียวกัน ปรากฏว่าผ่านไปแค่ไม่กี่นาทีก็มีคนร้องโวยวายบอกว่าปวดมากเลยจะตายอยู่แล้ว ปวดสุด ๆ จนต้องหยุด เพราะว่าคนนั้นถึงขั้นช็อคและหัวใจหยุดเต้นเสียชีวิต ที่เหลือ ๘๕ เปอร์เซ็นต์ มีตุ่มแบบลมพิษใหญ่บ้างน้อยบ้าง อีก ๑๕ เปอร์เซ็นต์มีผื่นอยู่กลางหลัง คนที่มีอาการคล้ายลมพิษนั้นบอกว่ารู้สึกว่าเจ็บปวด คำถามก็คือ อาการอย่างนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรในเมื่อน้ำที่หยดลงไปเป็นแค่น้ำกลั่น

    ความกลัวที่เกิดจากความปรุงแต่งว่ากำลังถูกน้ำกรดหยดกลางหลัง ทำให้เกิดอาการตอบสนองทางกายทันที ที่น่าสนใจคือเมื่อเขาผ่าผิวหนังที่เป็นตะปุ่มตะป่ำเหมือนลูกมะกรูดของคนตายไปส่องกล้องจุลทรรศน์ ปรากฏว่ามันมีอาการคล้ายกับโรคภูมิแพ้เวลามีแมลงสัตว์กัดต่อย ส่วนอวัยวะอย่างอื่นปกติ มันเป็นอย่างนั้นได้อย่างไร นี่เป็นผลของจิตใจที่ทำให้เกิดการตอบสนองทางกายเหมือนกับเจอน้ำกรดจริง ๆ

    นอกจากความโกรธและความกลัวแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ส่งผลต่อความเจ็บปวดและความเจ็บป่วยทางกาย ก็คือความห่วงกังวล เรื่องความห่วงกังวลนี้ เห็นได้ชัดเจนกับผู้ป่วยระยะสุดท้าย แพทย์พยาบาลหลายคนพบว่ามีผู้ป่วยบางคนที่เมื่อให้ยาระงับปวดแล้วสามารถลดอาการปวดได้เพียง ๑๐-๑๕ นาทีเท่านั้น จากนั้นผู้ป่วยก็กลับมาทุรนทุรายใหม่

    คุณหมอผู้หนึ่งที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เล่าว่าได้ไปดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายซึ่งมีอาการหนักจนต้องเข้าห้องไอซียู มีสายระโยงระยาง สื่อสารได้ลำบาก ตลอดเวลาที่อยู่ห้องไอซียูแกมีอาการทุรนทุราย หมอนึกว่าแกปวด จึงให้ยาบรรเทาปวด แต่แกสงบได้แค่ ๑๕ นาที จากนั้นก็กระสับกระส่ายใหม่ หมอสงสัยว่าแกคงมีอะไรค้างคาใจ จึงพยายามถามว่าแกเป็นห่วงอะไรหรือไม่ แกก็ทำปากขมุบขมิบ ฟังไม่ชัดเจน หมอจับความได้ว่า แกต้องการพูดคำว่า “เชียงใหม่” หมอไม่เข้าใจว่าหมายถึงอะไร ถามลูก ลูกก็ตอบไม่ได้ แต่ลูกเล่าว่า พ่อซึ่งเป็นคนกำแพงเพชร เคยไปรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชที่เชียงใหม่ และได้อุทิศร่างกายให้แก่ที่นั่น แกคงเป็นห่วงว่าจะไม่ได้ทำตามที่ตั้งใจไว้เพราะมาป่วยที่จุฬา ฯ เมื่อหมอทราบเช่นนี้ก็พูดกับคนไข้ว่า ลุงไม่ต้องกังวล หากเป็นอะไรไปหมอจะจัดการเรื่องร่างกายของลุงให้ ปรากฏว่าตรงกับที่แกเป็นห่วง พอได้ยินเช่นนั้น อาการทุรนทุรายก็หายไป

    อีกเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ ผู้ป่วยอยู่ในระยะสุดท้าย มีอาการกระสับกระส่าย ได้รับยาระงับปวดแล้วก็สงบได้ไม่ถึง ๒๐ นาที แล้วก็ทุรนทุรายอีก พยาบาลสงสัยว่า ผู้ป่วยคงมีความห่วงกังวลในจิตใจ จึงคุยกับลูก ได้ความว่า ผู้ป่วยเป็นหมอพราหมณ์ และยังไม่มีใครสืบทอดวิชานี้ พยาบาลเดาว่าคงเป็นเพราะเหตุนี้กระมัง แกถึงกระสับกระส่าย ก็เลยถามลูกชายว่า พ่อว่ามีใครที่เป็นลูกศิษย์บ้างไหม ก็ได้ทราบว่ามีญาติคนหนึ่งที่เป็นลูกศิษย์ จึงแนะให้ญาติคนนี้ทำพิธีสืบทอดวิชา โดยให้ทำกันเดี๋ยวนั้นเลย พอทำพิธีเสร็จ ก็บอกให้คนป่วยทราบว่ามีคนสืบทอดวิชาแล้ว ปรากฏว่าคนไข้อาการดีขึ้น หายกระสับกระส่าย

    ความห่วงกังวลเมื่อเกิดกับใครย่อมทำให้ทุกข์ใจ หากเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายก็มักมีอาการทุรนทุรายกระสับกระส่าย เป็นอาการทางใจล้วนๆ แต่ทำให้มีปฏิกิริยาทางกายเกิดขึ้น แม้แต่ยาระงับปวดก็เอาไม่อยู่ แต่พอเขารู้สึกสบายใจ หมดความห่วงกังวล อาการทางกายก็ดีขึ้น แสดงให้เห็นว่ามิติทางใจเป็นเรื่องสำคัญมาก

    มีอีกเรื่องหนึ่ง พระซึ่งเป็นเพื่อนของอาตมาไปดูแลอาจารย์ของอาตมาที่ตึกสงฆ์ รพ.จุฬาฯ แต่ก็มีผู้ป่วยที่เป็นฆราวาสอยู่ในตึกนี้ด้วย ประมาณตีสองก็มีคนมานิมนต์ท่านให้ไปช่วยรับสังฆทานจากแม่ของเขาซึ่งกำลังจะเสียชีวิต ท่านก็ไปรับสังฆทาน ระหว่างที่รับก็สังเกตว่าผู้ป่วยมีอาการกระตุกอยู่ตลอดเวลา สัญญาณชีพที่จอมอนิเตอร์ขึ้นลงเร็วมาก จึงอยากช่วยให้ท่านไปอย่างสงบ สอบถามลูกได้ความว่า ผู้ป่วยชอบใส่บาตรวันพระ และไปไหว้หลวงพ่อทองที่วัดไตรมิตรเป็นประจำ ท่านจึงพูดกับคนไข้ว่า “โยม วันนี้วันพระนะ (ที่จริงไม่ใช่วันพระหรอก แต่ท่านอยากให้แกนึกถึงวันพระ) โยมคดข้าวใส่ขันนะ เตรียมดอกไม้ธูปเทียนเอาไว้ จะไปใส่บาตรพระกัน” พอพูดถึงเรื่องใส่บาตร คุณยายซึ่งไม่ค่อยรู้สึกตัวแล้วก็มีอาการตอบสนอง คือพนมมือ อาการกระตุกลดลง เสร็จแล้วท่านก็พูดต่อว่า “โยม ไปหน้าบ้านกัน เอาเก้าอี้ไปด้วย” สักพักก็พูดต่อว่า “ทางซ้ายมีพระมาไหม” แกส่ายหัว “แล้ว ทางขวาล่ะ” ทีนี้แกพยักหน้า เพราะปกติพระมาบิณฑบาตจากทางขวาเป็นประจำตอนที่คุณป้ายังปกติดีอยู่ แล้วท่านก็พูดนำต่อว่า “ พระมาแล้ว โยมตักข้าวใส่บาตร ถวายกับข้าว และดอกไม้ธูปเทียน” พูดนำทีละรูป ทีละรูป จนครบ ๖ รูป ถึงตอนนี้แกไม่มีอาการกระตุกแล้ว สัญญาณชีพก็สวิงน้อยลง ทีนี้ท่านก็บอกว่า “โยมไปวัดไตรมิตรกัน ไปกราบหลวงพ่อทอง” กราบหนึ่ง กราบสอง กราบสามเสร็จ ก็ชวนผู้ป่วยทำสมาธิ หายใจเข้านึกถึง “พุธ” หายใจออกนึกถึง “โธ” คุณยายก็ทำตาม ตอนนี้สัญญาณชีพค่อย ๆ เคลื่อนช้าลง จนในที่สุดก็แบนราบ แสดงว่าสิ้นลมแล้ว อันนี้เป็นตัวอย่างที่ชี้ว่าเมื่อคนไข้นึกถึงบุญกุศลหรือสิ่งดีงาม ความกลัว ความทุกข์ ความกังวลก็บรรเทาเบาบาลง ทำให้ใจสงบ ไม่มีอาการกระสับกระส่ายอีกต่อไป
     
  17. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,518
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,089
    (ต่อ)
    อาตมาคิดว่าการเยียวยารักษาความเจ็บป่วดด้วยวิธีการทางจิตใจเป็นสิ่งสำคัญ และไม่ควรมองข้าม โดยควรทำควบคู่ไปกับการดูแลทางกายภาพหรือการให้ยา ถ้าจะสรุปว่ามีวิธีการอะไรบ้างที่ช่วยลดความเจ็บป่วยและความเจ็บปวดลงได้ อาตมาอยากเริ่มต้นที่กรณีของน้องโย

    น้องโยเป็นเด็กผู้ชายอายุ ๗ ขวบ วันหนึ่งป้าชวนน้องโยซ้อนรถจักรยานยนต์เข้าไปในเมือง นครปฐม ระหว่างทางเกิดอุบัติเหตุถูกรถชน ป้าแขนหัก น้องโยขาเละข้างหนึ่ง ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล ตลอดทางป้าร้องโอดโอย แต่น้องโยไม่ร้องเลย จนถึงห้องผ่าตัดน้องโยก็ไม่ร้อง พอผ่าตัดเสร็จหมอก็ถามน้องโยว่า ทำไมน้องโยไม่ร้องเลย น้องโยพูดว่า “ผมกลัวป้าเสียใจครับ” น้องโยเป็นห่วงป้า ไม่อยากให้ป้าทุกข์กว่านี้ เพราะป้าเองทก็ทุกข์มากพอแล้วที่นอกจากแขนจะหักแล้วยังรู้สึกผิดที่ทำให้หลานต้องมาเจอเคราะห์กรรมอย่างนี้ ความเป็นห่วงป้า ทำให้น้องโยอดกลั้นต่อความเจ็บปวดอย่างไม่น่าเชื่อ กรณีน้องโยเป็นตัวอย่างว่าการนึกถึงผู้อื่น ทำให้ความเจ็บปวดของตัวเองเป็นเรื่องเล็กน้อย

    นี่เป็นประเด็นสำคัญประการแรก การที่เรานึกถึงสิ่งอื่นนอกจากตัวเอง โดยเฉพาะเวลานึกคนที่เรารัก เราห่วงใย มันทำให้เรามีความสามารถในการอดทนอดกลั้นต่อความเจ็บปวดได้มากขึ้น เพราะความเจ็บปวดของเรากลายเป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อเทียบกับคนอื่น

    ประการที่สองซึ่งก็เชื่อมโยงกับประการแรกก็คือ การมองในแง่ดี อาตมาเคยอบรมการเผชิญความตายอย่างสงบที่วัดโคกนาว อำเภอหาดใหญ่ วันสุดท้ายของการอบรมได้พาอาสาสมัครไปเยี่ยมคนไข้ที่วัดซึ่งอยู่ตรงข้ามกับมหาวิทยาลัย อาสาสมัครได้พบเด็กคนหนึ่งอายุ ๑๔ ปี ผมร่วงหมดทั้งหัว เพราะป่วยเป็นโรคมะเร็งสมอง ต้องฉายแสง อาสาสมัครแปลกใจมากที่เด็กหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส พูดคุยกับอาสาสมัครซึ่งเป็นคนแปลกหน้าได้อย่างเป็นกันเองมาก แถมยังมีอารมณ์วาดภาพซึ่งเป็นกิจกรรมที่เธอชอบ

    ระหว่างที่คุยกัน เด็กก็บอกว่า “หนูโชคดีที่ไม่ได้เป็นมะเร็งปากมดลูก เพราะมีญาติคนหนึ่งเป็นมะเร็งปากมดลูกและปวดมาก” แล้วเธอก็พูดต่อว่า “หนูโชคดีที่เป็นแค่มะเร็งสมอง” นี่เป็นมุมมองที่ทำให้เธอไม่ทุกข์ทั้ง ๆ ที่เป็นมะเร็งสมอง เธอมองในเชิงบวกว่า ยังดีที่ฉันไม่เจอหนักกว่านี้

    ประการที่สามคือการให้อภัย การให้อภัยนี้สำคัญ อาตมาได้เล่าแล้วถึงหญิงสาวคนหนึ่งที่เจ็บปวดเรื้อรังเพราะความโกรธแค้นพี่สาว แต่เมื่อเธอให้อภัยพี่สาว ความเจ็บปวดก็หายเป็นปลิดทิ้ง มีอีกกรณีหนึ่ง เป็นผู้หญิงเช่นกัน ตอนอายุ ๒๐ ปี เพื่อนชายพาเธอไปส่งบ้าน เสร็จแล้วก็ข่มขืนเธอ ต่อมาผู้ชายคนนั้นติดคุก แต่ความเจ็บแค้นไม่จางหายไปจากจิตใจของเธอเลย จากความเจ็บแค้นกลายเป็นความเกรี้ยวกราดต่อคนรอบตัว สุดท้ายความเกรี้ยวกราดนั้นก็ส่งผลกลับมาที่ตัวเอง ทำให้ใจสั่น ปวดหัว และปวดท้องมาก แถมเธอยังปวดข้อต่อขากรรไกร เพราะเธอกัดฟันมากเวลานอน เป็นอย่างนี้มานานจนทนไม่ไหว ในที่สุดเธอก็พบว่า เป็นเพราะความแค้นต่อผู้ชายคนนั้น เธอคิดว่าถ้าไม่ให้อภัยเขา เธอคงอยู่ไม่ไหวแน่ๆ ในที่สุดเธอก็เรียนรู้ที่จะให้อภัย เลิกจมปลักอยู่กับอดีต และก็มองไปข้างหน้า เมื่อสามารถให้อภัยคนๆ นั้น เธอก็สามารถมองไปข้างหน้าและเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ เมื่อก่อนทุกเช้าต้องตื่นขึ้นมาด้วยความโกรธ แต่พอให้อภัยได้สุขภาพก็ดีขึ้น ชีวิตก็มีความสุข เพราะฉะนั้นการให้อภัยจึงสำคัญมากในการบรรเทาความเจ็บปวด

    เมื่อประมาณ ๖-๗ ปีก่อน ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา มีโครงการเรียกว่า โครงการเยียวยาด้วยการให้อภัย (Stanford Forgiveness Project)โดยให้คนที่มีความทุกข์จากการถูกทำร้าย มีความเจ็บปวดในจิตใจเพราะว่าถูกกระทำ มาฝึกการให้อภัย ซึ่งมีหลายแบบ ทุกคนเข้าอบรม ๖ วัน ๆ ละ ๕๐ นาที จากนั้นก็ติดตามอาการของผู้ที่เข้าโครงการนี้ ซึ่งมีจำนวนเกือบ ๓๐๐ คน มีการติดตามนานถึง ๑๘ เดือนหลังจากเข้าโครงการ สิ่งที่เขาพบก็คือ ผู้ที่เข้าร่วมโครงการมีความเคียดแค้นลดลง นอกจากนั้นอาการอื่น ๆ เช่น ความเครียด อาการปวดท้อง ปวดหัว ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อก็ลดลงด้วย ต่อมาเขาเอาวิธีการนี้ไปใช้กับผู้หญิงที่สูญเสียลูกและสามีในไอร์แลนด์เหนือ เพราะในไอร์แลนด์เหนือมีการฆ่าฟันกันมากระหว่างชาวคาทอลิกกับโปรแตสแตนท์ ผู้หญิงจำนวนหนึ่งมาเข้าคอร์สนี้ มาฝึกการให้อภัยวันละ ๒ ชั่วโมง ทำทุกวันตลอดหนึ่งอาทิตย์ ก็ปรากฏว่าอาการเจ็บปวด ความซึมเศร้าความเครียดลดลง เดี๋ยวนี้ก็มีการเอาวิธีการนี้ไปใช้ในบริษัทใหญ่ๆ เช่น อเมริกันเอ็กเพรส เป็นต้น วิธีนี้ไม่ได้ใช้กับคนที่ถูกกระทำเท่านั้น คนที่มีความเกลียดชังผู้คนรอบตัว ก็รู้สึกดีขึ้นเมื่อให้อภัยผู้อื่น
    การช่วยให้ผู้คนรู้จักให้อภัย เป็นวิธีการที่ได้ผล อาตมาเรียกการให้อภัยว่า “ยาสามัญประจำใจ” คนเราถ้าไม่มียาประเภทนี้ จิตใจจะมีความทุกข์ ความเครียด กดดัน ความดันโลหิตสูง ทุกคนจึงควรมียาสามัญชนิดนี้ไว้เยียวยาจิตใจ ซึ่งจะส่งผลต่อร่างกายด้วย


     
  18. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,518
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,089
    (ต่อ)
    ประการที่สี่ คือศรัทธาหรือความเชื่อมั่น เราคงทราบดีอยู่แล้วว่าศรัทธา เช่นศรัทธาหมอ ศรัทธาพยาบาล หรือศรัทธาต่อยา มีผลต่อการรักษา วิลเลียม เฮนรี เวลช์ ผู้ก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ ซึ่งมีชื่อเสียงมากในอเมริกา พูดถึงพ่อของเขาซึ่งเป็นแพทย์เหมือนกันว่า “ทันทีที่ท่านเข้าห้องผู้ป่วย คนป่วยจะรู้สึกดีขึ้นทันที บ่อยครั้งมิใช่เพราะการรักษาของท่าน แต่เป็นเพราะการปรากฏตัวของท่านต่างหากที่รักษาผู้ปวยให้หายได้” อันนี้ชี้ให้เห็นว่าศรัทธาในตัวแพทย์ และเมตตากรุณาของแพทย์ ทำให้ผู้ป่วยเกิดความหวัง เกิดกำลังใจ เกิดความอบอุ่นใจ สิ่งเหล่านี้ทำให้ความเจ็บปวดและความเจ็บป่วยทุเลาลง

    วงการแพทย์ทราบดีว่ายาหลอก (Placebo) นั้นมีอิทธิพลต่อคนไข้มาก มันไม่ใช่เป็นเรื่องที่คิดเอาเองหรืออุปาทานเท่านั้น แต่มันมีผลต่อระบบประสาท และสารเคมีในสมอง เคยมีการทดลองที่น่าสนใจมาก โดยแบ่งอาสาสมัครเป็น ๒ กลุ่ม ผู้ทดลองบอกทั้ง ๒ กลุ่มว่า ต้องการทดสอบประสิทธิภาพของยาแก้ปวดชนิดหนึ่ง กลุ่มแรกได้รับการบอกว่ายาระงับปวดเม็ดนี้ราคา ๒ เหรียญ ๕๐ อีกกลุ่มหนึ่งบอกว่ายาระงับปวดราคา ๑๐ เซ็นต์ ก่อนที่จะให้ยา ก็เอาไฟฟ้าช็อตที่ฝ่ามือ แล้วให้อาสาสมัครให้คะแนนความปวด จากนั้นก็ให้ยาระงับปวด ปรากฏว่า ๘๐ เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มแรกที่ได้ยาราคาแพง บอกว่าความเจ็บปวดลดลง ส่วนกลุ่มที่สองที่ได้รับยาราคาถูก ความเจ็บปวดลดลง ๖๐ เปอร์เซ็นต์ สิ่งที่อาสาสมัครเหล่านี้ไม่รู้ก็คือความจริงแล้วยาที่ให้แก่ทั้งสองกลุ่มนั้นเป็นยาตัวเดียวกัน ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ที่จริงมันไม่ใช่ยาแก้ปวด แต่เป็นวิตามินต่างหาก การทดลองนี้ชี้ให้เห็นว่าถ้ามีความเชื่อมั่นว่าเป็นยาระงับปวด ความเจ็บปวดก็จะลดลง และจะลดลงมากหากเชื่อว่าเป็นยาราคาแพง แต่ถ้าเชื่อว่าเป็นยาราคาถูก ความเจ็บปวดก็จะลดลงได้ไม่มากเท่ายาราคาแพง

    การทดลองนี้ชี้ว่าความเชื่อมั่นนั้นสำคัญมาก ไม่ใช่แค่ช่วยบรรเทาความรู้สึกปวดเท่านั้น แม้กระทั่งความรู้สึกว่าอร่อย รสชาติดี ก็สัมพันธ์กับเรื่องราคาด้วยเหมือนกัน มีการทดลองให้อาสาสมัครมา ๒๐ คนมากินไวน์ ๕ แก้ว เขาได้รับการบอกเล่าว่า ๕ แก้วนี้เป็นไวน์ ๕ ชนิด แต่ที่จริงมี ๓ ชนิดเท่านั้น อีก ๒ แก้วเป็นไวน์ชนิดเดียวกันกับ ๓ แก้วแรก ทุกคนได้รับการบอกเล่าว่าไวน์ ๕ แก้วมีราคาตั้งแต่ ๕ เหรียญ ถึง ๙๐ เหรียญต่อขวด เสร็จแล้วก็ให้ชิมไวน์ คนที่ชิมไวน์ ๕ เหรียญจะรู้สึกว่ารสชาติดีน้อยกว่าไวน์ราคา ๙๐ เหรียญทั้งๆ ที่เป็นไวน์ชนิดเดียวกัน ที่น่าสนใจคือมันไม่ใช่เป็นเพียงแค่ความรู้สึกเท่านั้น เพราะเมื่อเขาทำการสแกนสมองด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอ ก็พบว่าสมองส่วนที่รับความรู้สึกสบายหรือสุขเวทนา ที่เรียกว่า prefrontal cortex มีปฏิกิริยาตอบสนองในทางเดียวกัน นั่นคือ เมื่อกินไวน์ ๕ เหรียญ อาการของสมองส่วน prefrontal cortex ก็จะสว่างนิดหน่อย แต่เมื่อได้ชิมไวน์ที่เขาคิดว่าราคา ๙๐ เหรียญ สมองส่วนนี้ก็จะสว่างมากขึ้น และไม่ได้เกิดกับคนกินไวน์สมัครเล่นเท่านั้น แม้กระทั่งคนที่เป็นเซียนกินไวน์ เมื่อทำการทดลองแบบนี้ ก็ได้ผลคล้ายกัน

    การทดลองนี้ชี้ว่าความเชื่อนั้นสัมพันธ์กับความรู้สึก ถ้าเชื่อว่าเป็นของแพง ก็รู้สึกว่ามีรสชาติดี แต่ถ้าเชื่อว่าเป็นของถูก ก็รู้สึกว่ารสชาติไม่ดี ทั้ง ๆ ที่ไวน์ทั้งสองแก้วนั้นมาจากขวดเดียวกัน

    ประการที่ห้า คือสมาธิ สมาธินั้นสามารถที่จะช่วยเยียวยาความเจ็บปวดได้ คุณหมอสุมาลี นิมมานนิตย์ แพทย์ประจำโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งเสียชีวิตแล้ว ท่านเคยดูแลคนไข้คนหนึ่ง เธอ ป่วยเป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายเนื้อเยื่อตัวเองหรือโรคพุ่มพวง ตั้งแต่อายุ ๑๒ ปี อาการหนักจนกระทั่งไตวายตั้งแต่เด็ก ต้องไปฟอกเลือดเป็นประจำ เธอเคยถูกเจาะไขสันหลังแล้วเจ็บมาก จึงเกลียดหมอและกลัวเข็มฉีดยาอย่างที่สุด เวลาถูกเข็มแทง เธอจะด่าหมอและร้องกรี๊ดจนชัก บางทีก็เกร็งจนหมดสติไป

    คุณหมอสุมาลีพยายามพูดคุยกับเด็กคนนี้ว่า เธอกลัวอะไร โกรธใคร มีเรื่องเครียดหรือเปล่า อะไร คุณหมอแนะนำให้เด็กทำความเข้าใจกับความกลัวของตัวเอง รวมทั้งหันมาดูความกลัวของตน จนกระทั่งความกลัวลดลง ต่อมาคุณหมอชวนเด็กคนนี้ไปเข้าคอร์สรรมฐาน ฝึกสมาธิติด้วยการเดินจงกรม การตามลมหายใจ ปรากฏว่าเด็กเข้าใจและทำได้ ต่อมาก็หายกลัวเข็ม สามารถมองเข็มขนาดใหญ่แทงเข้าเนื้อตัวเองได้ จุดสำคัญอยู่ที่วันที่ผ่าตัดเปลี่ยนไต เธอแพ้ยาฉีดแก้ปวด จนอาเจียนแผลระบมมาก หมอไม่รู้จะทำอย่างไร แต่เด็กตั้งสติได้ดีมาก บอกว่าขอพาราเซตามอลเม็ดเดียว พอกินยาเสร็จเธอก็ตามลมหายใจเข้าออก แล้วก็หลับไป จากนั้นหมอก็ผ่าตัดจนสำเร็จเรียบร้อย โดยไม่มีเสียงร้องเจ็บจากเธอเลย นี่เป็นเรื่องที่อัศจรรย์มาก ต่อมาก็กลายเป็นกรณีศึกษาของแพทย์ที่นั่นว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งก็อธิบายได้ด้วยสมาธิล้วนๆ

    มีอีกกรณีหนึ่ง คุณหมออมรา มะลิลาเล่าว่า เคยไปเยี่ยมอาจารย์แพทย์ท่านหนึ่งซึ่งมะเร็งลามไปถึงกระดูก คนไข้เจ็บปวดมาก ยาก็เอาไม่อยู่ นอนไม่ได้ ต้องนั่งตัวงอ ตัวซีด มีเหงื่อเม็ดโต ๆคุณหมออมราจึงชวนคนไข้ทำสมาธิ ด้วยการตามลมหายใจ หายใจเข้าก็บริกรรมว่า “พุท” หายใจออกบริกรรมว่า “โธ” ทีแรกนึกว่าคนไข้จะทำได้แค่ ๕ นาที เพราะไม่เคยนั่งสมาธิมาก่อน แต่ปรากฏว่าคนไข้ทำได้นานถึง ๕๐ นาที ระหว่างที่ทำนั้น ความเจ็บปวดทุเลาลงมากจนสามารถนั่งหลังตรงได้ ทำเสร็จก็รู้สึกดีขึ้นมาก ปากเป็นสีชมพู ผิวพรรณมีน้ำมีนวล เหงื่อหายไปหมด คุณหมออมราแปลกใจมากว่า ทำไมถึงนั่งได้นานอย่างนั้น ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยนั่งสมาธิมาก่อน ก็ได้คำตอบว่า เป็นเพราะเวลาทำงานเขาจะมีสมาธิกับงานมาก พอเอาสมาธินั้นมาใช้กับการตามลมหายใจ จึงสามารถทำได้ไม่ยาก นี้เป็นตัวอย่างว่าสมาธินั้นช่วยบรรเทาปวดได้มาก
     
  19. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,518
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,089
    (ต่อ)
    ประการที่หก เป็นวิธีการที่ยากขึ้นอีกหน่อย แต่ก็ใช้ได้ดีก็คือการมีสติ รู้เท่าทันความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้น โดยไม่ถูกความรู้สึกนึกคิดครอบงำใจ เช่น เมื่อมีความกลัว ก็เห็นความกลัว แต่ไม่จมอยู่ในความกลัว เมื่อมีความปวด ก็เห็นความปวด ไม่ถลำเข้าไปในความปวดนั้น สตินั้นต่างจากสมาธิ สมาธินั้นบรรเทาปวดเพราะช่วยให้จิตไปจดจ่อสิ่งอื่น ทำให้ลืมความปวด หรือละเลยความปวด เช่น ปวดท้อง แต่จิตไปจดจ่อที่ลมหายใจ พูดอีกอย่างหนึ่งคือสมาธิเป็นการเอาจิตออกจากความปวดหรือออกจากร่างกายส่วนที่กำลังเจ็บปวด นี่เป็นประสบการณ์ที่เราเคยพบมาแล้ว เช่นคนที่เล่นไพ่นานๆ ข้ามวันข้ามคืนโดยไม่รู้สึกปวดหรือเมื่อยเลย แต่พอนั่งพับเพียบฟังพระเทศน์แค่ ๑๕ นาทีก็ปวดเมื่อยต้องขยับขาแล้ว ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะตอนที่เล่นไพ่นั้น จิตจดจ่ออยู่ที่ไพ่ จึงไม่รับรู้ความปวดเมื่อย เลิกเล่นเมื่อไหร่ถึงรู้สึกปวดเมื่อย ตรงข้ามกับเวลาฟังพระเทศน์ ใจไม่มีสมาธิจึงรับรู้ความปวดเมื่อยที่ขาได้ง่าย
    สมาธินั้นช่วยพาจิตออกจากความเจ็บปวด แต่สติทำงานอีกแบบหนึ่ง คือไปรับรู้ความปวด โดยไม่ยึดติดความปวดนั้น รู้ว่ากายปวด แต่ใจไม่ปวด เพราะเห็นความปวดเฉย ๆ โดยไม่ยึดว่าความปวดเป็น “ตัวกูของกู” ตรงนี้เป็นเรื่องที่ยากสักหน่อยแต่สามารถทำได้ คุณหมออมราเล่าถึงคนไข้คนหนึ่ง เป็นมะเร็งลำไส้ ปวดทรมานมาก ยาก็เอาไม่อยู่ แต่เนื่องจากเขาเคยเจริญสติมาก่อน จึงเอาสติมาใช้งาน คนไข้คนนี้พูดตามสำนวนของเขาว่า สติเอาจิตมาตั้งที่หัวไหล่ แล้วดูกายที่เจ็บปวด ปรากฏว่า ความทุกข์ทรมานหายใจ จิตเป็นปกติ สงบเย็น แต่พอเผลอสติ จิตไปรวมกับกาย ก็ทุกข์มากเหมือนกับโลกจะแตก จนเมื่อมีสติกลับมา ใจก็แยกออกจากกาย เห็นความปวดกายแต่ใจไม่ทุกข์

    การมีสติช่วยให้เกิดการรับรู้แบบผู้สังเกต ผู้เห็น ไม่ใช่ผู้เป็น เมื่อมีสติ จิตก็รับรู้ความปวดหรือทุกขเวทนา แต่จิตไม่ปวดด้วย เพราะไม่ได้ยึดมันว่าเป็นของเรา พูดอีกอย่างคือ เห็นความปวด แต่ไม่มีผู้ปวด กายปวด แต่จิตไม่ปวด มีแต่ทุกขเวทนา แต่ไม่มีความทุกข์ทรมาน ทุกขเวทนากับทุกข์ทรมาน สองอย่างนี้ต่างกัน ทุกขเวทนาเป็นเรื่องกาย แต่ทุกข์ทรมานเป็นเรื่องใจ ทุกขเวทนาเป็นของจริง แต่ทุกข์ทรมานเกิดจากการปรุงแต่งของใจ เมื่อใจไม่มีสติก็ไปยึดความเจ็บปวดว่าเป็นตัวกูของกู มีตัวกูผู้ปวดขึ้น ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริง มีแต่ความปวด ไม่มีผู้ปวด ตัวกูผู้ปวดนั้นเป็นสิ่งที่จิตปรุงแต่งขึ้นเมื่อไม่มีสติ

    ความกลัวก็เช่นกัน ถ้ามีสติเห็นความกลัว ความกลัวก็ทำอะไรให้ทุกข์ใจไม่ได้ คุณหมอวิธาน ฐานวุฒ ซึ่งเป็นศัลยแพทย์ เล่าว่า เวลาทำการผ่าตัดเล็ก เช่นผ่าไฝ คนไข้บางคนจะกลัวมาก กลัวแม้กระทั่งเข็มฉีดยาชา ต้องให้ยานอนหลับก่อนจึงจะฉีดยาชาได้ แต่บางทีก็ไม่ได้ผล เพราะยานอนหลับออกฤทธิ์ตอนที่กลับบ้านแล้ว หมอถามคนไข้ว่าที่กลัวนี่กลัวอะไร คนไข้บอกกลัวเจ็บ พอฉีดยาชาให้ก็ถามว่ากลัวอีกหรือเปล่า คนไข้ก็ยังกลัว ถามว่ากลัวอะไร ฉีดยาชาแล้วไม่มีอะไรน่ากลัว แต่คนไข้ก็ยังกลัวอยู่ ความกลัวมันก็ทำให้ความเจ็บปวดเพิ่มขึ้น ทั้งที่ฉีดยาชาเข้าไป คุณหมอก็พยายามอธิบายว่ามันไม่น่ากลัวนะ ฉีดยาชาไม่เจ็บหรอกแต่ก็ไม่สำเร็จ แม้อธิบายว่ามันไม่อันตรายหรอกผ่าตัดเล็กแค่นี้ คนไข้ก็ยังรู้สึกกลัวอยู่นั่นเอง

    สุดท้ายก็ใช้วิธีให้คนไข้สังเกตดูความกลัว แต่ก่อนพอคนไข้บอกว่ากลัว หมอก็บอกว่าไม่ต้องกลัวหรอก แต่ตอนหลังพอคนไข้บอกว่ากลัว หมอก็เปลี่ยนคำพูดใหม่บอกว่า กลัวก็ดีแล้วอย่าพยายามไม่กลัว แต่ให้สังเกตความกลัวของตัว ลองดูว่ากลัวเท่าไรถ้าคะแนนเต็ม ๑๐ จะให้คะแนนความกลัวเท่าไหร่ แล้วก็ให้สังเกตกายของคุณด้วย ว่าปฏิกิริยาทางกายเป็นอย่างไร หัวใจเต้นอย่างไร ลมหายใจเป็นอย่างไร หลังจากสังเกตแล้วต่อมาก็ให้ยอมรับความกลัว ศิโรราบต่อมัน ไม่พยายามผลักไสหรือกดข่มมัน ให้รู้สึกเหมือนว่าคุณไปนั่งอยู่ตรงใจกลางความกลัวเลย หมอวิธานเล่าว่าเมื่อใช้วิธีนี้ ความกลัวของคนไข้ลดลงจาก ๘-๙ เป็น ๔-๕ เลย

    นี้เป็นการใช้สติในการจัดการกับความกลัว คือรับรู้เฉย ๆ โดยไม่หนี หรือเอาใจออกห่างจากความกลัวหรือสิ่งที่เรากลัว เป็นการดูความกลัวโดยไม่เป็นผู้กลัว และยอมรับมันโดยไม่ผลักไสมัน เวลาเราพยายามผลักไสหรือกดข่มอะไรก็ตาม มันจะหายไปชั่วขณะ แล้วก็จะผุดโผล่มา ยิ่งผลักไสความโกรธความเกลียดความปวด ก็จะยิ่งโกรธ ยิ่งเกลียด ยิ่งปวดมากขึ้น แต่เมื่อเรายอมรับมัน ใจก็สงบ และช่วยให้กายสงบด้วย ไม่ใช่สงบต่อความปวดเท่านั้น หากยังช่วยให้เราสงบเมื่อเผชิญกับความตายได้ด้วย

    มีหลายคนที่เมื่อยอมรับความตายได้ ใจก็สงบนิ่ง มีเพื่อนคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เคยไปว่ายน้ำที่สมุยแล้วจู่ ๆ โดนกระแสน้ำซัดออกนอกฝั่งไปเรื่อยๆ เธอกลัวมาก พยายามว่ายเข้าฝั่ง แต่ยิ่งว่ายก็ยิ่งถูกกระแสน้ำพัดออก ยิ่งว่ายก็ยิ่งเหนื่อย เพื่อนเห็นก็เข้าไปช่วยไม่ได้เพราะกลัวถูกกระแสน้ำซัดออกไปด้วย ทีแรกเธอตกใจมาก แต่ตอนหลังพอรู้แน่ว่าจะต้องตายก็ทำใจได้ ตายก็ตาย พอทำใจได้อย่างนั้นใจก็สงบ ไม่ดิ้นรน ลอยคออยู่นิ่ง ๆ ไม่กระเสือกกระสนอีกต่อไป ปรากฏว่าถึงจุดหนึ่งก็รู้สึกว่าคลื่นค่อย ๆ ซัดเข้าหาฝั่งเอง เพื่อนก็เลยว่ายมาช่วยเธอ พาเข้าฝั่ง เธอเล่าว่าการที่เธอยอมรับความตายได้ทำให้รอดชีวิตมาได้ ถ้าไม่พร้อมที่จะตาย เธอจะต้องพยายามว่ายเข้าหาฝั่ง ซึ่งในที่สุดก็จะหมดแรง มีหลายคนที่ตายเพราะพยายามว่ายเข้าฝั่งจนหมดแรงในที่สุด

    คนเราเมื่อกลัวตายก็พยายามขัดขืน แต่เมื่อยอมรับมัน ใจก็สงบได้ นี่คือประโยชน์ของสติอาตมาคิดว่าการเผชิญความเจ็บปวดด้วยวิธีนี้ คือการยอมรับความเจ็บปวด และศิโรราบต่อมัน จะทำให้ใจทุกข์ทรมานเพราะความเจ็บปวดน้อยลง ความทุกข์หรือความเจ็บปวดอาจจะหารสองหารสาม ตรงกันข้ามถ้าเราขัดขืน พยายามปฏิเสธ ผลักไสมัน ความทุกข์หรือความเจ็บปวดก็จะคูณสองคูณสาม ความพยายามผลักไสต่อสู้ทำให้ใจทุกข์เพิ่มขึ้น ไม่ใช่เฉพาะเวลามีความเจ็บปวดเท่านั้น แต่รวมถึงเวลาของหาย อกหัก สูญเสียคนรักด้วย มันเป็นเรื่องเดียวกัน คือยิ่งต่อสู้ยิ่งปฏิเสธก็ยิ่งทุกข์ ความทุกข์คูณสองคูณสามทันที เหมือนกรณีที่อาตมาเล่าถึงความกลัวเวลาถูกจีดยา ถ้ากลัวเข็ม พอเข็มแทงความเจ็บจะเพิ่มขึ้นเป็น ๓ เท่าของคนที่ไม่กลัว แต่ถ้ามีสติเห็นความกลัว รู้ว่าความกลัวเกิดขึ้นโดยไม่ผลักไส ความกลัวก็จะคลายลง ใจก็จะนิ่ง ทำให้ความเจ็บจากการถูกเข็มแทงลดลงด้วย

    ประการที่เจ็ด ที่อาตมาอยากจะเพิ่มคือการสวดมนต์ การสวดมนต์เป็นวิธีการที่ช่วยให้เกิดสมาธิ หรือจะเรียกว่าทำให้จิตเบี่ยงเบนออกจากความเจ็บปวด มารับรู้สิ่งที่ดีงามหรือสิ่งที่ศรัทธา ทำให้ใจสงบได้ อาจจะมีเอ็นโดรฟินหลั่งมา ช่วยให้ความเจ็บปวดทุเลาลง ถ้าเรามีความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธ์ สวดมนต์อยู่เสมอ ก็จะช่วยบรรเทาความปวดได้ ถึงแม้ไม่ได้สวดมนต์เอง แต่ให้คนอื่นสวดให้ ความปวดก็ลดลงได้เช่นกัน

    มีการทดลองซึ่งมีชื่อมาก คือการให้คนจากศาสนาต่างๆ กัน ยิว พุทธ คริสต์ โปรแตสแตนท์ สวดมนต์ให้แก่คนไข้ โดยรู้ว่าคนไข้เป็นใครชื่ออะไร อยู่ที่ไหน แต่ไม่รู้จักกัน แล้วก็น้อมจิตส่งใจไปให้ ปรากฏว่าคนไข้เหล่านี้อาการดีขึ้น เขาแบ่งเป็น ๓ กลุ่ม กลุ่มแรกเยียวยาด้วยการบำบัดรักษาทางกาย กลุ่มที่สองบำบัดด้วยเสียงเพลง แล้วก็การสร้างจินตภาพถึงสิ่งที่ดีงาม และกลุ่มที่สามโดยการสวดมนต์ให้แก่คนไข้ พบว่ากลุ่มที่สามมีการตอบสนองที่ดีขึ้นกว่าสองกลุ่มแรกด้วยซ้ำ ซึ่งคงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาต่อไปว่าเป็นเพราะเหตุใด

    ทั้งหมดนี้การแพทย์ยังสงสัยอยู่ว่าเป็นไปได้อย่างไร ทำงานอย่างไร เกิดขึ้นได้อย่างไร แต่เป็นเรื่องธรรมดา เพราะแม้กระทั่งยานอนหลับ หรือยาสลบ ทุกวันนี้เราก็ยังรู้ไม่ชัดว่ามันทำงานได้อย่างไร มียาหลายตัวมากที่เราไม่รู้ว่ามันทำงานอย่างไร แต่มันสามารถเยียวยาและรักษาให้หายได้ ทำนองเดียวกันกับวิธีการทางจิตใจ หรือบางครั้งเรียกว่าวิธีการทางจิตวิญญาณ วิธีการทางศาสนา ทุกวันนี้มีหลายกรณีที่เราไม่รู้ว่ามันทำงานอย่างไร ต่อระบบประสาท ต่อร่างกายของเรา แต่ที่แน่ๆ คือมันได้ผล สามารถช่วยลดความเจ็บปวดได้

    วิธีการทางจิตใจที่อาตมาประมวลมาข้างต้น ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถลดความเจ็บปวดได้ หลายวิธีการก็เป็นสิ่งที่ทุกท่านอาจจะได้ยินได้ฟังจากการบรรยายที่ผ่านมา ได้ประสบพบเห็นกับตัวเองแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีอะไรใหม่ อาตมาเพียงแต่ประมวลเพื่อให้เห็นภาพได้กว้างขึ้น เรื่องการบำบัดหรือเยียวยาความปวดนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องของหมอ ของยา หรือของเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่ยังเป็นเรื่องของจิตใจ เป็นเรื่องของตัวผู้ป่วยเองด้วย ซึ่งหากวางจิตวางใจให้ถูกต้อง มีการเจริญสติ การทำสมาธิ การสวดมนต์ การรู้จักให้อภัยหรือว่าการมองโลกในแง่ดี ไม่รู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองเป็นสิ่งเลวร้ายที่สุด ก็ช่วยให้ความปวดบรรเทาลงได้

    อาตมาใช้เวลาพอสมควรแล้วก็ขอยุติเพียงเท่านี้
    :- https://visalo.org/article/D_dhammachatBumbud10.html
     
  20. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,518
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,089
    สงบด้วยสติและปัญญา
    พระไพศาล วิสาโล
    เรามักจะดำเนินชีวิตและทำงานด้วยการวางแผนล่วงหน้า อยากให้ชีวิตและงานเป็นไปอย่างที่เราคาดหวัง บ่อยครั้งแม้เราจะเตรียมการทุกอย่างเป็นอย่างดีแต่ทุกอย่างก็ไม่เป็นไปอย่างที่เราคิด มักจะมีเหตุปัจจัยต่างๆ แทรกเข้ามาทำให้สถานการณ์ไม่เป็นไปตามแผน เกิดปัญหา จึงเกิดความทุกข์ แต่จริงๆ แล้ว ความไม่คาดฝันเหล่านี้ไม่จำเป็นจะต้องก่อทุกข์ หรือก่อผลทางลบเสมอไป ขึ้นอยู่ที่ว่าเราจะมีท่าทีอย่างไรต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าเรามีท่าทีที่ไม่ถูกต้อง ปัญหาก็ตามมามากมาย แต่ถ้าเรามีท่าทีที่ถูกต้อง สถานการณ์ก็อาจเปลี่ยนไปในทางที่ดี

    ไม่ใช่วันของเรา

    มีนักธุรกิจคนหนึ่งทุกเช้าเขาจะขับรถส่งลูกสาวไปโรงเรียนจากนั้นจึงต่อไปที่ทำงาน เป็นที่รู้กันว่าการจราจรในกรุงเทพ ฯ แย่มาก จึงจำเป็นต้องออกจากบ้านแต่เช้าตรู่เพื่อจะได้ไปถึงโรงเรียนและถึงที่ทำงานทันตามกำหนดเวลา

    เช้าวันหนึ่งในขณะที่กำลังรับประทานอาหารเช้ากับลูกสาว ลูกสาวเผลอปัดแก้วน้ำตกแตก พื้นเลอะเทอะ เขาไม่พอใจมาก ดุลูกสาวอย่างรุนแรงจนลูกร้องไห้ เมื่อภรรยาเห็นอย่างนั้นจึงต่อว่าเขา เขายิ่งโมโหจึงหันมาทะเลาะกับภรรยา โต้เถียงกันไปมาอยู่นาน กว่าจะรู้ตัวก็เลยเวลามากแล้ว จึงรีบขึ้นไปคว้ากระเป๋าเอกสารแล้วออกไปทำงานทันที แต่เนื่องจากเขาออกจากบ้านช้า จึงเจอรถติดแน่นขนัด กว่าลูกจะถึงโรงเรียนก็สายแล้ว ถูกครูลงโทษ ตัวเขาเองก็ไปถึงที่ทำงานช้า เลยเข้าประชุมสาย ถึงตรงนั้นจึงรู้ว่าลืมเอกสารสำคัญไว้ที่บ้านเพราะรีบคว้ากระเป๋าออกมาโดยไม่ดูให้ถี่ถ้วน การประชุมเช้านั้นจึงไม่ได้ผลดี เขาถูกเจ้านายต่อว่า จึงมีอารมณ์หงุดหงิดตกค้างมาถึงช่วงบ่าย พอเจอเพื่อนร่วมงานพูดไม่ถูกหู จึงเกิดการโต้เถียงกัน สุดท้ายก็ไม่มีอารมณ์ทำงาน เรียกว่าเสียงานไปทั้งวัน ระหว่างขับรถกลับบ้านด้วยความหงุดหงิดเขาก็เลยเฉี่ยวชนรถอีกคัน ทำให้เสียเวลาและเสียอารมณ์หนักขึ้นบนท้องถนน กว่าจะจัดการให้เรียบร้อย กลับถึงบ้านก็ค่ำ ถึงเวลาอาหาร ยังมีอารมณ์ตกค้าง จึงทะเลาะกับภรรยาอีกรอบ ลูกสาวเห็นพ่อแม่ทะเลาะกันทั้งเช้าทั้งค่ำก็เครียด นอนไม่หลับ ตัวพ่อกับแม่เองก็นอนไม่หลับทั้งคู่ นี่คือปรากฏการณ์ที่มักจะเกิดกับหลายคนจนอาจกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว

    สำหรับนักธุรกิจคนนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งวันนั้นผิดแผนไปหมด บางคนอาจเรียกวันแบบนี้ว่าเป็นวันซวย ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากจุดเล็ก ๆ แล้วส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ จุดเล็ก ๆ นั้นก็คือลูกสาวทำแก้วน้ำตกแตก จากนั้นก็เกิดเรื่องแย่ ๆ ตามมามากมาย ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ เหมือนกับว่าเคราะห์ซ้ำกรรมซัด แต่ลองมองดูดีๆ การที่ลูกสาวทำแก้วน้ำตกแตกจะต้องส่งผลแย่ๆ อย่างนี้เสมอไปหรือเปล่า

    ใช้สติกำกับชีวิต

    สมมุติว่าลูกทำแก้วน้ำตก พ่อเกิดขุ่นเคืองใจขึ้นมา แต่มีสติ รู้ทันอารมณ์นั้น แทนที่จะด่าว่าก็เงียบเสีย ถ้าจะตักเตือนก็พูดดีๆ “กินอาหารอย่าใจลอยสิลูก” ไม่ด่าว่าด้วยถ้อยคำรุนแรง เมื่อพ่อพูดดีๆ ก็ไม่มีเหตุให้ทะเลาะกับภรรยา เมื่อถึงเวลาก็ไปจัดเอกสารใส่กระเป๋า เสร็จแล้วก็ขับรถไปส่งลูก ถึงโรงเรียนและที่ทำงานทันเวลาเพราะออกตามเวลา สามารถเข้าประชุมตามกำหนด ไม่ลืมเอกสารสำคัญ การประชุมก็ราบรื่น เจ้านายชม ตกบ่ายอารมณ์ดี แม้เพื่อนร่วมงานพูดผิดหู ลูกน้องทำงานผิดพลาดก็ไม่ฉุนเฉียว ไม่มีการทะเลาะกัน ทำงานก็ราบรื่นเพราะไม่มีอารมณ์หงุดหงิด เมื่อขับรถกลับบ้าน ก็ไม่มีเหตุให้เฉี่ยวชน ถึงบ้านด้วยความรู้สึกสบาย ๆ ได้กินข้าวพร้อมหน้า พูดคุยหยอกล้อกัน คืนนั้นทุกคนเข้านอนอย่างมีความสุข ไม่มีอะไรต้องกลุ้มอกกลุ้มใจ

    เราลองเปรียบเทียบดู 2 เหตุการณ์นี้ ต่างกันมาก ทั้งที่มีจุดเริ่มต้นเหมือนกัน

    เหตุการณ์แรกที่มีเรื่องแย่ ๆ ตลอดทั้งวัน ดูให้ดี สาเหตุที่แท้จริงไม่ใช่เพราะลูกสาวทำแก้วน้ำแตก เพราะเหตุการณ์ที่สอง ลูกสาวก็ทำแก้วน้ำตกเหมือนกัน แต่ก็ไม่มีเรื่องแย่ ๆ เกิดขึ้น จุดชี้ขาดหรือจุดสำคัญอยู่ตรงไหน อยู่ตรงที่ปฏิกิริยาของพ่อเมื่อเห็นลูกทำแก้วน้ำแตก ถ้าพ่อไม่มีสติ มันก็ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ทำให้วันนั้นกลายเป็นวันซวย แต่ถ้าพ่อมีสติ ยับยั้งชั่งใจ พูดกับลูกดีๆ ก็สามารถส่งผลกระทบในทางที่ดี ทำให้ทั้งวันเป็นไปอย่างราบรื่น

    มองอย่างนี้แล้ว ก็จะเห็นว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของเคราะห์กรรมหรือความซวย แต่มันเกิดขึ้นจากการกระทำของนักธุรกิจคนนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ คือถ้าเขาวางใจไม่ถูก ไม่มีสติ พอเจออะไรมากระทบ ก็มีปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์ไปในทางลบ แล้วส่งผลเสียตามมาเป็นลูกโซ่ แต่ไม่ว่าจะมีอะไรแย่ ๆ เกิดขึ้น หากเรามีปฏิกิริยาหรือท่าทีที่ถูกต้อง ก็สามารถหลีกเลี่ยงปัญหา หรือเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดีได้ในทุกจังหวะหรือทุกเหตุการณ์

    พูดอีกอย่างก็คือ ชีวิตนั้นมีทางเลือก หรือมีทางแยกให้เลือกเสมอ เมื่อมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้น เราเลือกได้ว่าจะมีปฏิกริยาในทางบวกหรือลบ เราเลือกได้ว่าจะสุขหรือทุกข์ เราเลือกได้ว่าจะปล่อยให้มันพาเราไปในทางที่ย่ำแย่ หรือจะไม่ยอมให้มันบงการชีวิตเรา เมื่อลูกทำแก้วน้ำตก เราเลือกได้ว่า จะโกรธ หรือไม่โกรธลูก จะดุด่า หรือพูดกับลูกดี ๆ ตรงนี้สติมีความสำคัญมาก ถ้าไม่มีสติ เหตุการณ์นี้ก็ทำให้เป็นทุกข์ และทำให้เรามีปฏิกิริยาในทางลบ นำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ ตามมา แต่ถ้าเรามีสติ เราก็ไม่ทุกข์ และทำให้เรื่องจบลงด้วยดี

    เมื่อเกิดเหตุสุดวิสัย ไม่คาดฝัน ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องทุกข์เสมอไป เราเลือกที่จะไม่ทุกข์ก็ได้ ถ้าเราไม่มีสติ ก็หลงในอารมณ์ เสร็จแล้วก็สร้างปัญหาตามมา แต่ถ้าเรามีสติ ก็จะรู้ตัวได้ไว ไม่ก่อปัญหาตามมา พูดง่าย ๆ หลงพาไปสู่ทุกข์ ตื่นพาไปสู่ความไม่ทุกข์ คนเราบางช่วงอาจจะหลง เช่น เผลอดุลูกจึงทะเลาะเบาะแว้งกับภรรยา แต่แล้วก็มีสติ ระลึกได้ว่าถึงเวลาทำงานแล้ว ก็เลยหยุดทะเลาะกับภรรยา ไปเก็บเอกสารครบทุกชิ้นโดยไม่รีบร้อน แล้วก็ไปส่งลูกตามเวลา เหตุการณ์วันนั้นก็จะเป็นไปอย่างราบรื่น หรือถึงแม้ว่าจะไปทำงานสาย ลืมเอกสาร เพราะมัวทะเลาะกับภรรยาจนเลยเวลา แต่ถ้าสติมาทันก็สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ทำให้เกิดปัญหาตามมา เช่น แม้จะถูกเจ้านายต่อว่าก็ไม่หัวเสียไปทั้งวัน มีสมาธิอยู่กับงาน แม้เพื่อนจะพูดผิดหู ก็ไม่โมโหจนทะเลาะกับเขา สามารถมีสมาธิจดจ่ออยู่กับงานได้ ครั้นกลับบ้าน ก็มีสติ ไม่ฉุนเฉียวจนเกิดเหตุเฉี่ยวชน เหตุการณ์ทั้งหลายแม้ไม่เป็นไปอย่างที่หวัง แต่เราเลือกได้ว่าจะทำอย่างไร หรือมีท่าทีอย่างไรเพื่อให้เกิดผลเสียน้อยที่สุด
    ทุกจังหวะชีวิต เหตุร้าย ไม่คาดฝัน สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ โดยที่เราไม่อาจควบคุมได้ แต่เมื่อมันเกิดขึ้น ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องทุกข์เสมอไป เราเลือกที่จะไม่ทุกข์ก็ได้ ทุกเหตุการณ์ ไม่ว่าร้ายหรือดี มีทางแยกให้เราเดินเสมอ ทางหนึ่งคือทางสู่ความทุกข์ เต็มไปด้วยปัญหา อีกทางหนึ่งคือทางไม่ทุกข์ ไร้ซึ่งปัญหา มีหลายคนบ่นว่า ตัวเองโชคไม่ดี ไหนจะเจ็บป่วย ที่ทำงานก็แย่ เพื่อนร่วมงานก็ไม่ดี ทำไมฉันซวยอย่างนี้ เรื่องเหล่านี้แม้จะเป็นความจริง ไม่ใช่เรื่องสมมุติ แต่เราเลือกเส้นทางที่ไม่ทุกข์ได้เสมอ ที่เราเลือกได้เพราะเรามีสติ
     

แชร์หน้านี้

Loading...